ดาวฤกษ์ เป็นหนึ่งในเนื้อหาวิชาดาราศาสตร์ที่สอนตั้งแต่ระดับประถม เนื่องจากดวงดาวเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เด็กๆ สามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาค่ำคืน แต่การศึกษาเรื่องดวงดาวนั้นก็มีความละเอียด ซับซ้อน ในบทความนี้จะพามารู้จักกับ “ดาวฤกษ์” ต่างจากดาวเคราะห์อื่นอย่างไร

ดาวฤกษ์คืออะไร

ดาวฤกษ์ คือดาวที่มีแสงสว่างในตัวเอง อธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้ว่าเกิดจากการหดตัวของฝุ่นแก๊สระหว่างดวงดาว จนเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น จนฝุ่นนั้นกลายเป็นดาวฤกษ์ ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดคือดวงอาทิตย์ และเมื่อเกิดดาวฤกษ์ขึ้นในจักรวาล ก็มักจะดึงดูดดวงดาวอื่นๆ มองเห็นเป็นรูปร่างตามจินตนาการ คนสมัยโบราณอาศัยการสังเกตกลุ่มดาวฤกษ์ในฤดูกาลต่างๆ เพื่อใช้ในการเดินทาง การเดินเรือ และการสร้างปฏิทิน

ที่มาของการศึกษาเรื่อง “ดาวฤกษ์” และ “กลุ่มดาวฤกษ์”

การศึกษาเรื่อง “ดาวฤกษ์” และ “กลุ่มดาวฤกษ์” มีคู่มากับวิวัฒนาการของมนุษยชาติ มนุษย์ใช้ดาวฤกษ์กำหนดทิศทางการเดินทาง และสร้างปฏิทินสุริยคติ โดยการสังเกตดวงอาทิตย์

กลุ่มดาวฤกษ์นั้นถูกนำมาทำเป็น “แผนที่ดวงดาว” หรือ “แผนที่ดาว” เพื่อใช้ในการจัดทำแผนที่และพิธีกรรม ชนชาติต่างๆ ได้จัดทำแผนที่ดวงดาวของตัวเองขึ้น เช่น ชาวอียิปต์ ชาวจีน เป็นต้น สิ่งที่ใช้คู่กับการศึกษาดาวฤกษ์คือ “กล้องโทรทัศน์”

ดาวฤกษ์ถูกจำแนกตามอุณหภูมิสี เรามองเห็นสีดาวฤกษ์ได้ด้วยตาเปล่าแตกต่างจากการมองผ่านเครื่องมือต่างๆ แสงที่มองเห็นจากการส่องสว่างของดาวฤกษ์ จะมีสีขาวฟ้าจากดาวฤกษ์ที่ร้อนจัด ส่วนดาวฤกษ์ที่มีอุณหภูมิต่ำจะมีสีส้มแดง

...

กลุ่มดาวฤกษ์คืออะไร

กลุ่มดาวฤกษ์ คือดาวฤกษ์หลายๆ ดวงที่สามารถเชื่อมต่อกันเป็นรูปร่างสามมิติ ผ่านจินตนาการของผู้สังเกตการณ์ กลุ่มดาวฤกษ์ได้รับการตั้งชื่อจากชนชาติต่างๆ เพื่อใช้ในการสังเกตหาทิศ ตัวอย่างกลุ่มดาวฤกษ์ที่ได้รับความนิยม คือ กลุ่มดาวฤกษ์ 12 ราศี

กลุ่มดาวฤกษ์ 12 ราศี

1. กลุ่มดาวแกะ (Aries or Ram)

กลุ่มดาวแกะ (Aries or Ram) เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีเมษ จุดสังเกตจะมีดาวดวงหนึ่ง 3 สว่างจ้าคล้ายสามเหลี่ยมมุมป้าน มองเห็นช่วงเวลา 21.00 น. เหนือศีรษะ และเห็นได้ชัดเจนในช่วงวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี

2. กลุ่มดาววัว (Taurus)

กลุ่มดาววัว (Taurus) เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีพฤษภ มองเห็นเป็นรูปธง หรือเขาวัว บางคนมองเป็นหน้าวัว

3. กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini)

กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีเมถุน มองเห็นชัดเจนเวลา 21.00 น. ของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี จุดสังเกตคือมีดาวที่สว่างจ้า 2 ดวงอยู่ใกล้กัน

4. กลุ่มดาวปู (Cancer)

กลุ่มดาวปู (Cancer) เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีกรกฎ มีดาวเรียงกัน 8 ดวง มองเห็นเป็นรูปปู การมองหากลุ่มดาวนี้จะต้องหากลุ่มดาวสิงโตกับกลุ่มดาวคนคู่ก่อน

5. กลุ่มดาวสิงโต (Leo)

กลุ่มดาวสิงโต (Leo) เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีสิงห์ มองเห็นชัดเจนเหนือศีรษะเวลา 21.00 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เมื่อลากเส้นต่อกันลักษณะเหมือนสิงโต

6. กลุ่มดาวหญิงพรหมจารีย์ (Virgo)

กลุ่มดาวหญิงพรหมจารีย์ (Virgo) เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีกันย์ มองเห็นชัดเจนในวันที่ 23 กันยายนของทุกปี ลักษณะดาวเรียงกันเมื่อลากเส้นแล้วจะมองเห็นเหมือนรูปคน

7. กลุ่มดาวคันชั่ง (Libra)

กลุ่มดาวคันชั่ง (Libra) เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีตุล เมื่อลากเส้นต่อกันแล้วลักษณะเหมือนคันชั่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน อยู่ใกล้ด้านขวามือของกลุ่มดาวแมงป่อง

8. กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius)

กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีพิจิก ลักษณะเหมือนแมงป่อง มองเห็นชัดเจนเวลา 21.00 น. ของวันที่ 20 กรกฎาคมของทุกปี

9. กลุ่มดาวคนถือธนู (Sagittarius)

กลุ่มดาวคนถือธนู (Sagittarius) เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีธนู ลักษณะเรียงกันเหมือนคนถือธนู มีเรื่องเล่าว่าเป็นคนถือธนูไล่ยิงวัว เพราะเมื่อกลุ่มดาวคนถือธนูขึ้นบนท้องฟ้าจะมองไม่เห็นกลุ่มดาววัว

10. กลุ่มดาวมังกร (Capricornus)

กลุ่มดาวมังกร (Capricornus) เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีมังกร ลักษณะเรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายใบหน้ามังกร หรือหน้าแพะ บางชนชาติเรียกกลุ่มดาวฤกษ์นี้ว่ากลุ่มดาวแพะทะเล จะมองเห็นชัดเจนในวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี

...

11. กลุ่มดาวคนถือหม้อน้ำ (Aquarius)

กลุ่มดาวคนถือหม้อน้ำ (Aquarius) เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีกุมภ์ อยู่ถัดจากกลุ่มดาวมังกร เป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างน้อยเพียง 13 ดวง มองเห็นบนท้องฟ้าเพียง 10 ชั่วโมงในวันที่ 16 กุมภาพันธ์-13 มีนาคม ของทุกปีในช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่าน

12. กลุ่มดาวปลา (Pisces)

กลุ่มดาวปลา (Pisces) หรือกลุ่มดาวปลาคู่ เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำราศีมีน เป็นกลุ่มดาวหลักในหมู่นักดาราศาสตร์สากลที่ใช้สังเกตกลุ่มดาวจักรราศี มองเห็นชัดเจนในวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี เพราะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ

กลุ่มดาวฤกษ์มีอะไรบ้าง

นอกจากกลุ่มดาวฤกษ์ 12 ราศีแล้ว ยังมีกลุ่มดาวฤกษ์สำคัญๆ กลุ่มอื่น อาทิ

  • กลุ่มดาวนายพราน (Orion)

กลุ่มดาวนายพราน ประกอบด้วยดวงดาว 3 ดวง เรียงต่อกันเป็นรูปเข็มขัดของนายพราน และดวงอื่นๆ ที่ลากเส้นต่อกันแล้วเหมือนรูปคันธนู มีแสงสว่างปานกลาง ผู้ที่อยู่ซีกโลกเหนือสังเกตเห็นได้ในช่วงเย็นของเดือนตุลาคม ถึง มกราคม คนไทยรู้จักในชื่อกลุ่มดาวเต่า ดาวดวงที่สว่างที่สุดคือ “ดาวไรเจล”

รูปกลุ่มดาวฤกษ์ "กลุ่มดาวนายพราน"

...

  • กลุ่มดาวจระเข้ หรือ ดาวหมีใหญ่ (Ursa Major)

กลุ่มดาวหมีใหญ่ประกอบด้วยดาวฤกษ์ 7 ดวงเรียงกันเป็นรูปกระบวยน้ำ หรือบางชนชาติเรียกว่า กลุ่มดาวกระบวยใหญ่ กลุ่มดาวนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือทางขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

รูปกลุ่มดาวฤกษ์ "กลุ่มดาวหมีใหญ่"

  • กลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor)

กลุ่มดาวหมีเล็กประกอบด้วยดาวฤกษ์สว่างจ้า 3 ดวง หนึ่งในนั้นคือดาวเหนือ เป็นดาวที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต ใช้เป็นดาวนำทาง ชาวกรีกเรียกว่า ดาวหมีตัวเล็ก ชาวจีนเรียกว่าราชรถแห่งสวรรค์

รูปกลุ่มดาวฤกษ์ "กลุ่มดาวหมีเล็ก"

...

  • กลุ่มดาวลูกไก่ (Pleiades)

กลุ่มดาวลูกไก่ ภาษาอังกฤษคือ Pleiades เป็นส่วนหนึ่งในนิทานพื้นบ้านของหลายประเทศ ประกอบด้วยดาวฤกษ์สีน้ำเงิน 7 ดวง มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

รูปกลุ่มดาวฤกษ์ "กลุ่มดาวลูกไก่"

  • กลุ่มดาวค้างคาว (CASSIOPEIA)

กลุ่มดาวค้างคาว ภาษาอังกฤษคือ CASSIOPEIA มีดาวฤกษ์ที่สุกสว่าง 5 ดวงเรียงตัวกันเป็นรูป W ชาวกรีกมีตำนานว่า CASSIOPEIA เป็นราชินีของเซเฟอุสแห่งเอธิโอเปีย

รูปกลุ่มดาวฤกษ์ "กลุ่มดาวค้างคาว"

จุดจบของดาวฤกษ์

ดาวฤกษ์ก็มีการดับได้ ขึ้นอยู่กับมวลของดาวที่เริ่มต้น ดาวที่มีมวลปานกลางจะเกิดการเนบิวลากลายเป็นดาวยักษ์แดงและกลายเป็นดาวแคระขาวในที่สุด ส่วนดาวที่มีมวลมากจะกลายเป็นดาวยักษ์แดงใหญ่และเกิดซูเปอร์โนวา จนกลายเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ

ภาพจาก LESA
ภาพจาก LESA

ที่มา :

1. ดาวฤกษ์, ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, http://astro.phys.sc.chula.ac.th/IHY/Stars/star.htm
2. จุดจบของดาวฤกษ์, ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ LESA http://www.lesa.biz/astronomy/star/death-of-stars