เป็นต้นแบบนักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินที่คร่ำหวอดในวงการตลาดทุนไทยมาหลายทศวรรษ โดยทุกครั้งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชน ซุ่มเสียงตรงไปตรงมาคล้ายจะขวานผ่าซากของ “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มักสะกิดให้เกิดประเด็นถกเถียงกันร้อนฉ่าในสังคมไทย กระนั้น วิกฤติปัญหาสุขภาพครั้งใหญ่ ที่ทำให้ต้องกลับมาฝึกพูดฝึกเดินใหม่หมดวันละหลายพันก้าว ทำให้เขาสัญญาว่าจะให้โอกาสตัวเองอีกครั้ง เพื่อจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในแบบสำราญชน

“เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมป่วยแรงมากเป็นลิ่มเลือดอุดตันในสมอง โชคดีเจอขณะที่อยู่โรงพยาบาลผ่าตัดลิ้นหัวใจ, เป็นตอนตื่น และไม่โดนจุดสำคัญมาก ทำให้ซีกซ้ายเป็นอัมพฤกษ์ชั่วคราว แต่ไม่โดนส่วนความจำ, ส่วนความคิด และส่วนกวนตีนยังอยู่ครบ จึงฟื้นฟูกลับมาได้ ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเดือนครึ่ง ต้องฝึกพูด, ฝึกกลืน, ฝึกเคี้ยว และฝึกเดินใหม่หมด สมองส่วนรับภาพแดมเมจนิดหน่อย ทำให้มีไบลนด์สปอต (จุดบอด) ทางซ้ายเยอะ ต้องฝึกเดินทุกวันบังคับตัวเองให้เดินวันละหลายพันก้าว จนทุกวันนี้ตีเทนนิสและตีกอล์ฟได้แล้ว แต่ขับรถไม่ได้อีกเลย”...นักคิดผู้สร้างแรงบันดาลใจเล่าถึงวิกฤติใหญ่หลังเกษียณที่น้อยคนจะล่วงรู้

...

ตอนเผชิญหน้ากับความตายและรอดวิกฤติมาได้นึกถึงอะไร

วันที่ผ่าตัดและฟื้นจากสโตรก ผมถามหมอว่าเร็วที่สุดจะไปต่างประเทศได้เมื่อไหร่ หมอบอกว่าเร็วที่สุดคือ 3 เดือนจากนี้ ผมเลยให้เมียจองตั๋วไปเที่ยวออสเตรียกันทั้งบ้าน พอซื้อตั๋วจองโรงแรมไปแล้วทุกอย่างคุณก็ต้องหาย นี่เป็นวิธีตั้งเป้าและกดดันตัวเอง ถ้าไม่หายก็ต้องนั่งดู 10 คนในบ้านไปเที่ยว ผมพยายามฝึกทุกอย่างเพื่อฟื้นร่างกายให้ได้ ซึ่งก็ได้ไปเที่ยวจริงๆ ผมไม่ได้คาดหวังว่าต้องกลับมาเพอร์เฟกต์เหมือนเดิม วันแรกเดินได้ 5 ก้าวก็ดีใจแล้ว ตื่นมาสิ่งแรกที่ทำทุกวันคือต้องเดินให้ได้ 2,000 ก้าว และวันหนึ่งต้องเดินให้ได้ 7,500 ก้าว

มองโลกเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะไหม

ผมได้อ่านพระไตรปิฎกตอนผู้มีราตรีเดียวอันเจริญ คือให้ใช้ชีวิตอยู่กับลมหายใจปัจจุบัน ถึงวันนี้ไม่ห่วงอะไรแล้ว อย่างเกียรตินาคินภัทรก็ไม่มีอะไรต้องห่วง เพราะได้ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เก่งมากๆ แต่ผมห่วงเมียคนเดียว ถ้าผมเป็นอะไรไป เขาคงเสียใจและหาผัวใหม่ไม่ได้แล้ว!!

3 ปีมานี้ปฏิวัติตัวเองขนานใหญ่ยังไง

จากเดิมที่ชุ่ยๆ ผมกลายเป็นคนมีวินัยเกี่ยวกับสุขภาพขึ้นเยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่คุมมาตลอดคือเรื่องน้ำหนัก ผมจบ มศ.5 น้ำหนัก 72 กก. พอจบมหาวิทยาลัย น้ำหนัก 75 กก. ตอนนี้น้ำหนัก 80 กก. ตลอดเวลา 50 ปี ถือว่าน้ำหนักขึ้นน้อยมาก ช่วงไหนน้ำหนักเกินจะกินน้อยออกกำลังกายมาก และกินอย่างไม่ตามใจปากมากเกินไปมีคนถามว่าทำยังไงไม่มีพุงเลย ผมบอกก็ลองนอนโรงพยาบาลสัก 3 เดือน ทุกวันนี้กินอย่างระมัดระวังกว่าเดิมมาก แต่อย่างทุเรียน ภรรยาให้กินแค่เดือนละ 2 เม็ด ตอนนี้เริ่มกลับมาดื่มไวน์แล้ว วันละ 2-3 แก้ว จากเมื่อก่อนดื่มทีละ 2 ขวด แต่แปลกผมเป็นคนดื่มเท่าไหร่ก็ไม่เมา หลังจากป่วยครั้งนั้นผมขับรถไม่ได้อีกแล้ว เลยยกรถสปอร์ตและรถปอร์เช่ให้หลาน ส่วนนาฬิกาต้องเปลี่ยนมาใช้นาฬิกาเพื่อสุขภาพ วัดหัวใจอะไรพวกนี้ เลยยกนาฬิกาสะสมทั้งหลายให้คนรอบตัวที่ยังใส่นาฬิกา ผมเป็นคนไม่หวงของหรอก อะไรที่เราไม่ได้ใช้แล้วจะยกให้คนอื่นหมด ก่อนหน้านี้ผมหยิบนาฬิกามาใส่ไปทำงานที่เกียรตินาคินภัทรวันละเรือน ตั้งใจว่ากูเจอใครที่ยังใส่นาฬิกาอยู่ จะถอดยกให้ตรงนั้น ปรากฏว่า 5 วัน ก็แจกหมดแล้ว นาฬิกาดีๆทั้งนั้น เช่น โรเล็กซ์, ปาเต๊ะ และแฟรงค์ มูลเลอร์ คนสมัยนี้เลิกใส่นาฬิกาแล้ว ฉะนั้นผมต้องให้นาฬิกาดีๆกับคนที่ยังใส่นาฬิกาจริงๆ

...

ถึงวันนี้อะไรคือความสุขของ “บรรยง พงษ์พานิช”

การแสวงหาความสุขแบบสำราญชน ผมพยายามเข้าใจสังคมมากขึ้น พยายามตั้งคำถามจุดประกายจุดประเด็นให้สังคมไปเรื่อยๆ และไปชวนให้ผู้รู้ทั้งหลายขยายผลต่อ ปีนี้ผมอายุ 68 แล้ว แต่ชีวิตยังต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ มีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะในโลกนี้ ชาตินี้อาจไม่มีนิพพาน แต่ผมจะพยายามศึกษาธรรมะเพื่อใช้ในทางโลกมากขึ้น อีกอย่างผมเป็นคนมีเงินแล้วต้องใช้ เพราะไม่ใช้มันก็ไร้ประโยชน์ ผมไม่ได้ฟุ่มเฟือยไร้สาระ แต่ก็ไม่ตระหนี่ ใช้ชีวิตให้สมควร ใช้รถก็ใช้รถดีที่สุด เวลาเที่ยวจะบินเฟิสต์คลาสอยู่โรงแรมดีที่สุด ต้องใช้ชีวิตให้มีความสุข ผมชอบศิลปะเจออะไรที่ชอบก็จะสะสม ผมอยู่มา 68 ปีแล้ว ยอมรับว่ามีชีวิตโคตรดี และมีคนเมตตาเราเยอะ เงินทองผมไม่ค่อยสนใจ ไม่รังเกียจนะ แต่ไม่บ้าคลั่งอยากมี ที่สำคัญผมอยากทำประโยชน์ได้บ้าง

...

มีคนฝากถามว่า เป็นบรรยงที่กวนตีน แต่ทำไมมีคนรักเยอะ

เพราะผมจริงใจ และมีอารมณ์ขัน คนเกลียดผมเยอะแยะ แต่ผมไม่ได้เกลียดตอบ และไม่เคยกลัว ผมคิดว่าต้องออกมาพูด ผมเป็นคนเปิดเผย คนเราถ้าอยากให้ใครเปิดกับเรา เราก็ต้องเปิดก่อน ถึงจะทำให้เกิดแรงต่อต้าน แต่ถ้าเราอยากเป็น Somebody เราต้องกล้าที่จะพูดความจริง และกล้าเสี่ยงด้วยความจริงใจ

อายุ 68 แล้ว ทำยังไงให้ไฟลุกโชนไม่มีมอด

ทำไมผมถึงยังไม่ออกจากเกียรตินาคินภัทร ขอใช้คำนี้ว่าจะอยู่ก็กลัวกินแรง จะไปก็กลัวโง่!! ถ้าไม่อยู่มันจะโง่ ทำให้ไม่รู้พัฒนาการของโลก ผมจะเอนจอยมากกับการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆและการเปลี่ยนแปลงไปของโลก โลกยุคนี้คุณอย่าไปคาดเดาเลย เดาอะไรมันก็ผิด เพราะมีแต่ความอันเซอร์เทนตี้ แต่เราต้องรู้ทุกองค์ประกอบ เวลาเกิดอะไรขึ้นเราก็เข้าใจได้ ถึงเราจะคาดการณ์อนาคตไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็พอมองแนวออกเพื่อปรับตัวเราและองค์กรของเราให้รับกับความเปลี่ยนแปลงทันท่วงที

...

อะไรคือทักษะสำคัญที่สุดในโลกยุคใหม่

ความสามารถในการปรับตัว คนที่ปรับตัวได้คือคนที่อยู่รอด ไม่ใช่คนเก่งหรอก ตัวผมยังคงเอนจอยกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และพยายามทำตัวเองให้เป็นประโยชน์ที่สุด ทั้งที่รู้ว่าอีกไม่กี่ปีก็ตายแล้ว ข้อดีที่สุดของผมคือ ผมอยากทำอะไรก็สามารถชวนคนที่มีความคิดคล้ายกันมาร่วมกันได้ การสร้างความไว้วางใจเป็นเรื่องยากมาก ต้องเริ่มด้วยพื้นฐานที่จริงใจ มนุษย์เราพอรู้จักกันแล้วโกหกกันไม่ได้ จะเห็นว่าใครเป็นยังไงจริงๆ

ประเทศไทยควรปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างไร

ผมเชื่อมาตลอดว่าการเปลี่ยนแปลงในเชิงสถาบันเป็นเรื่องจำเป็น ผมพยายามบุกเบิกหลายอย่าง ตั้งแต่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ, วางกลไกต่อต้านการคอร์รัปชัน และกิโยตีนกฎหมาย แต่สุดท้ายพบว่าการกุมรัฐกุมนโยบายทั้งหมดคือการคอร์รัปชันขั้นสูงสุดแล้ว ฉะนั้น ทุกอย่างต้องรีฟอร์ม ถ้าไม่รีฟอร์มมันจะล้มไปเอง คอร์รัปชันคือปัญหาใหญ่สุด ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เจตนาที่ดีก็มีเจตนาที่บิดเบี้ยวก็มี เวลาผู้นำครองอำนาจนาน จะมีคนจากทุกทิศทุกทางวิ่งเข้าไปหาอำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เป็นมาตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากระบบพรรคพวกนิยมเปิดหีบโกงเงินรัฐแบบดื้อๆ ก็พัฒนาเป็นโกงจากการจัดซื้อ และการประมูลล็อกสเปก ยุคต่อมาเป็นการโกงแบบแอดวานซ์ขึ้น โดยเอาโมโนโพลีของรัฐไปให้เอกชนในรูปสัมปทาน จากเดิมที่พยายามไปเปลี่ยนโครงสร้าง ผมก็ยอมแพ้แล้วว่ากูแกร่งและเก่งไม่พอ ขนาดระดมคนมาทำงานรีฟอร์มได้ขนาดนั้น ระดับมันสมองทั้งนั้นก็ยังไม่สำเร็จ ผมเลยหันมาทำเล็กๆน้อยๆตามเรื่องของผม ผมเป็นนักสังเกต และชอบเสือกชอบขวางไปเรื่อย ผมเป็นคนเชื่อในระบบ ซึ่งในระบบที่ดีที่แข่งขันเสรีโดยสมบูรณ์ ต้องมีกรอบมีกติกาเปิดกว้าง ไม่มีใครใช้เงินซื้อความได้เปรียบได้ง่ายๆ ต้องเอาความสามานย์ออกจากทุนนิยม

ประเทศไทยจะหลุดจากกับดักเหล่านี้ได้อย่างไร

ผมเป็นกรรมการอยู่ TDRI ทำให้ได้เรียนรู้เยอะ เพราะอยู่กับขุมความรู้จริงๆ ผมพยายามผลักดันให้เกิดการสร้างวิธีการใหม่ในการออกใบอนุญาตก่อสร้างต่างๆใน กทม. ที่ผ่านมาก่อนจะเกิดโควิด ประชาชนทั่วประเทศต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกกับใบอนุญาตต่างๆปีละ 10,000 ล้านบาท ตอนผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไปเยี่ยมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) ผมได้เสนอไป 2 เรื่องใหญ่คือ ขอให้ทำกระบวนการขออนุญาตก่อสร้างใน กทม.ใหม่ โดยเอากฎทุกอย่างมากาง แล้วกิโยตีนเทศบัญญัติต่างๆลงไปบ้าง เอาเหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆ อันไหนขึ้นกับดุลพินิจให้ตัดทิ้ง เพราะดุลพินิจเปิดช่องให้เรียกเงินได้เสมอ จากนั้นให้วางกลไกขออนุญาตใหม่ให้มี SLA (Service Level Agreements) ข้อตกลงในการให้บริการ ระบุว่า ประชาชนยื่นใบอนุญาตไป 5 วัน กทม.ต้องตอบ ถ้าไม่อนุญาตจะผิดอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีหน่วยงานรับร้องเรียนให้ประชาชนอุทธรณ์ได้ เท่ากับเราคุมหน่วยงานนั้นจุดเดียวว่าโปร่งใส แทนที่จะคุม 30 เขต โดยมีข้อมูลรองรับจากงานวิจัยของ ACT ร่วมกับ TDRI ว่ามีอะไรเป็นเพนพอยต์เป็นอุปสรรค และกฎใหม่ควรเป็นอย่างไร ใช้เวลาทำวิจัยให้เสร็จไม่เกิน 3-5 เดือน ถ้าทำอันนี้สำเร็จประชาชนจะได้รับความสะดวก และทำให้การคอร์รัปชันจางหายไป ซึ่งถ้า กทม.ประสบความสำเร็จ เทศบาลทั่วประเทศก็ต้องเอาไปทำ.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ