คติดั้งเดิมเกี่ยวกับครุฑ ซึ่งเกิดจากลักษณะโดยธรรมชาติของนกที่กินงูเป็นอาหาร มนุษย์ได้เอาแนวความคิดนี้มาสร้างเป็นเรื่องราวขึ้นในวรรณคดีมหากาพย์มหาภารตะในรูปของ “ครุฑ” ที่เป็นศัตรูกับ “นาค”

และ...ได้สืบทอดมาแสดงเป็นรูปแบบทางศิลป์ในรูปของ “ครุฑยุดนาค”

คติเกี่ยวกับ “ครุฑ” และ “นาค” นี้เป็นคติแรกที่ปรากฏในศิลปกรรมแบบเขมรในประเทศไทย ซึ่งรับรูปแบบทางศิลปะต่อเนื่องมาจากศิลปะเขมรในราวพุทธศตวรรษที่ 12 และมีสืบต่อมาโดยตลอด

ราวพุทธศตวรรษที่ 15 ปรากฏคติเกี่ยวกับพระวิษณุในศิลปะแบบเขมรในประเทศไทยในฐานะของ “ครุฑพาหนะ”...ต่อเนื่องในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปรากฏมีรูปครุฑแบกขึ้นในงานศิลปกรรม แสดงความหมายด้านสัญลักษณ์คือ การเป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์และการเป็นผู้พิทักษ์ศาสนสถาน

นอกจากนี้แล้วยังมีคติเกี่ยวกับครุฑปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่งคือ คติแสดงว่าช้างเป็นอาหารของครุฑ โดยแสดงรูป “ครุฑจับช้าง” เป็นการนำเรื่องราวของครุฑที่ปรากฏในวรรณคดีภาษาสันสกฤตมาดัดแปลง

...

ครั้นราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 คติเกี่ยวกับพระวิษณุแสดงในรูปแบบของ “ครุฑธวัช” หรือ “ครุฑยอดธง” ปรากฏขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยแสดงความหมายทางด้านสัญลักษณ์แทนพระวิษณุและลัทธิไวษณพนิกาย รับโดยตรงมาจากศิลปะเขมรแบบนครวัดและบายน เป็นไปตามคติจากวรรณคดีภาษาสันสกฤต

นับแต่อดีตโบราณนานมาแล้ว สิ่งแวดล้อมตามสภาพธรรมชาติเป็นส่วนประกอบที่สำคัญประการหนึ่งในการดำเนินชีวิต จึงเป็นเหตุให้เกิดแนวคิดในการสร้างสัตว์พันทางขึ้น การที่มนุษย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติในขอบเขตที่จำกัด และรู้สึกกลัวในการที่ต้องเผชิญกับความลึกลับมหัศจรรย์ของธรรมชาติ

ทำให้คิดว่า...ปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้นมีผลมาจากสิ่งมีชีวิตอำนาจเหนือตน วิญญาณลึกลับนั้นปกครองสวรรค์ โลก และผืนน้ำ ทำให้คนยุคเก่าพยายามดึงเอาธรรมชาติเข้ามาอยู่ใกล้ตัว ให้รู้สึกสัมผัสได้ ด้วยการมองดูธรรมชาติในรูปแบบของอำนาจที่สามารถเข้าใจได้ในความนึกคิดของตน

...สร้างรูปแบบของอำนาจธรรมชาติขึ้นเป็นลักษณะเฉพาะบางอย่างที่สามารถสัมผัสได้ด้วยตาของมนุษย์นำมาเทียบให้เป็นบุคคลซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องทำในรูปแบบมนุษย์เท่านั้น แต่อาจจะทำในรูปแบบของสัตว์ด้วย ดังนั้น...ดินแดนในลุ่มแม่น้ำสำคัญๆจากจีนไปสู่ลุ่มแม่น้ำสินธุตลอดเรื่อยไปจนถึงลุ่มแม่น้ำไนล์

จึงกลายเป็นศูนย์กลางการประดิษฐ์และการแพร่กระจายรูปแบบของ “เทพเจ้า” ที่ถูกบูชาในลักษณ์ของสัตว์และรูปแบบของสัตว์พันทางที่จินตนาการขึ้นตามแนวคิดนี้...ข้อมูลข้างต้นทั้งหมดนี้มาจากงานวิจัย “คติเรื่องครุฑจากศิลปกรรมแบบเขมรในประเทศไทย” (ธิดา มิตรกูล : 2527)

O O O O

ความคิดที่เกี่ยวกับ “ดวงอาทิตย์” ในยุคพระเวท...มีเทพเจ้าองค์หนึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเจ้าแห่งสวรรค์ คือ “อินทร” หรือ “พระอินทร์” ภายหลังต่อมาได้ให้อิทธิพลต่อแนวความคิดที่เกี่ยวกับ “ครุฑ”...เจ้าแห่งหมู่นกทั้งปวง เป็นที่ยำเกรงของโลกทั้งสาม...มีความเร็วเท่าความคิด มีพละกำลังมหาศาล

ทั้งยังสามารถครองร่างใดก็ได้ตามแต่ใจคิดปรารถนา สามารถเดินทางไปได้ทั่วทุกแห่งตามที่ต้องการ มีแสงสว่างและความร้อนในตัวเอง จนเทพเจ้าต่างๆคิดว่าเป็นไฟ

...

“ครุฑ” มีความเป็นอมตะ ในครุฑปุราณะกล่าวถึงครุฑว่าเป็นภควันต์ ซึ่งเป็นฉายาที่ใช้เรียกเทพเจ้าหรือกึ่งเทพเจ้าหรือนักบวชที่ยิ่งใหญ่ ความหมายของคำตามตัวอักษรนั้นหมายความถึงบุคคลผู้มีกำเนิดด้วยคุณสมบัติ 6 ประการ คือ...ความมั่งคั่งหรือความเจริญก้าวหน้า, อำนาจ, เกียรติยศชื่อเสียง

ความงดงาม, ความฉลาดรอบรู้ และความสุขุม

ถึงแม้ว่าครุฑจะมีอานุภาพยิ่งใหญ่ที่เหนือธรรมชาติต่างๆมากมายก็ตาม แต่บางครั้งครุฑก็มีลักษณะที่อ่อนแอเหมือนมนุษย์ทั่วไป โดยมีอุปนิสัยตามวรรณคดีสันสกฤต อาทิ รักอิสรภาพ, มีความเฉลียวฉลาดและปฏิภาณดีเยี่ยม, อัธยาศัยดี, มีความสัตย์ซื่อ, กตัญญูกตเวที, มีความอาฆาตพยาบาทรุนแรงมาก

มหากาพย์มหาภารตะระบุว่า “ครุฑ”...อาศัยอยู่ที่ยอดเขาหิมวัต เขาไวกัณถะ หิรัณมยวรรษ ทำรังอยู่บนต้นตาลมลิหรือต้นงิ้ว และสร้าง วิมานอยู่บนต้นงิ้ว ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถากล่าวไว้ในชั้นหลัง...ตามที่ปรากฏในพระมหาวิบากคัมภีร์บาลีอักษรขอมได้แสดงธรรมแห่งบุคคลที่บังเกิดเป็นดิรัจฉานว่า “คนใดบำเพ็ญทานและมักโกรธ มักกระทำการกุศลด้วยทิฐิมานะ อหังการ มมัง การ คนเหล่านั้นย่อมไปบังเกิดเป็นครุฑ”

...

คติทางพุทธศาสนาย้ำว่า “ครุฑ” ทั้งหลายที่กำเนิดขึ้นด้วยอานิสงส์แห่งกุศลกรรมในอดีตชาตินั้น จำถือกำเนิดขึ้นในประเภทใดก็ตามย่อมขึ้นอยู่กับอานิสงส์ของการบริจาคทานในแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ผู้บริจาคชั้นดียิ่งก็จะได้กำเนิดเป็นครุฑชั้นสูงสุด คือ...ครุฑประเภทโอปปาติกะ

บุคคลผู้บริจาคทานชั้นรองลงมาก็จะได้กำเนิดเป็น ครุฑประเภทสังเสทชะ ผู้บริจาคทานชั้นรองลงมาอีกก็จะได้กำเนิดเป็น ครุฑประเภทชลาพุชะ และ อัณฑชะ ตามลำดับ

O O O O

“ครุฑ”...เป็นสัตว์ใหญ่ มีอานุภาพ พละกำลังมหาศาล แข็งแรง อีกทั้งยังบินได้รวดเร็ว ทั้งยังมีสติปัญญาเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด อ่อนน้อม ถ่อมตน มีสัมมาคารวะ น่าสรรเสริญ ผู้มีความเชื่อศรัทธาจึงบูชา “พญาครุฑ” ด้วยว่าเป็นเครื่องรางของขลังที่มีพุทธคุณขึ้นชื่อทางด้านอำนาจ บารมี เสริมพลังผู้นำ ป้องกันภูตผี

วิธีบูชา “องค์พญาครุฑ” ให้จุดธูป 5 ดอก บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อเปิดทางขอให้องค์พญาครุฑมาประทับบูชา เตรียมเครื่องบวงสรวงสักการะ จุดธูป 9 ดอก เทียน 1 คู่ พวงมาลัย ผลไม้ 1-3 อย่าง ถั่วหรืองาและ...ที่ขาดไม่ได้ก็คือ “น้ำเปล่า” แล้วก็สวดบูชาสรรเสริญ เริ่มด้วยตั้งนะโม 3 จบ.... “คะรุปิจะ กิติมันตัง มะ อะ อุ โอมพญาครุฑ รุจ รุจ แล้วรวย นะได้เงิน นะได้ทอง นะเจริญ นะมั่นคง นะได้ทรัพย์ นะเมตตา

อิติปิโส ภะคะวา พระพุทธเจ้าสั่งมา พญาครุฑล้างอาถรรพณ์ อิติคงเนื้อ อิติคงหนัง พญาครุฑยันติ อภิปูยาจามิ พญาครุฑจะผุด มนุษย์จะเกิด พุทธังแคล้วคลาด ธัมมังแคล้วคลาด สังฆังแคล้วคลาด องค์พระพุทธเจ้าย่างบาท นะปัจจะโยโหนตุ”

...

“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”.

รัก–ยม