ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ปี 2021 ที่ผ่านมา เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2025
สิ่งที่ตามมาพร้อมกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุก็คือ ภาวการณ์เกิดโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคสมองเสื่อม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นโรคที่เกิดกับผู้สูงอายุเป็นหลัก
ข้อมูลจาก ศ.นพ.ประเสริฐ บุญเกิด นายกสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย และหัวหน้าทีมวิจัยงานวิจัยศึกษาอัตราการเกิดโรคสมองเสื่อมและปัจจัยเสี่ยง ระบุว่า โรคสมองเสื่อม “Dementia” มีสาเหตุหลักๆมาจากอายุที่มากขึ้น โดยเมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมก็จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับแบบทวีคูณ ผู้สูงอายุทุกคนมีโอกาสที่จะป่วยโรคนี้ได้ จากการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โดยการเก็บข้อมูลจำนวน 529,764 คน ในผู้หญิงอายุ 30-99 ปี ระหว่างปี 2549-2555 พบผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมากถึง 519 ราย หรือประมาณ 10% ของกลุ่มตัวอย่าง
...
“ช่วงอายุ 50 ปี มีโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมราว 25% อายุ 60 ปี เพิ่มเป็น 50% จนถึงอายุ 80-84 ปี เป็นช่วงที่อัตราการเกิดโรคขึ้นสู่จุดสูงสุด คือ ประมาณ 89% และเมื่ออายุ 85-99 ปี อาการจะเริ่มคงที่ ซึ่งผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงานหรือทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ขาดการออกกำลังกาย มีโอกาสที่จะเกิดภาวะโรคสมองเสื่อมถึง 9 คนใน 10 คน” คุณหมอประเสริฐให้ข้อมูล
นายกสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย ยังบอกด้วยว่า การดำเนินโรคของภาวะอาการสมองเสื่อมจะค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงเริ่มต้นคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมอาจจะไม่รู้ตัวจนอาการของโรคดำเนินไปถึงจุดสูงสุดคือ อายุ 84 ปี หลังจากนั้นอาการจะชะลอ ทรงตัว ในระยะสุดท้ายที่ช่วงอายุประมาณ 85-99 ปี
“ผลการศึกษายังพบว่าผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์ จะเสียชีวิตหลังเป็นเฉลี่ยประมาณ 7-10 ปี โดยผู้หญิงจะเสียชีวิตช้ากว่าผู้ชาย ขณะที่ปัจจุบันยาที่ให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมรับประทานไม่ได้แก้ที่สาเหตุโรค เพียงแต่ทำให้เสียชีวิตช้าลง และในระยะสุดท้ายผู้ใกล้ชิดก็ต้องดูแลผู้ป่วยเหมือนกับเด็กเล็กทุกอย่าง” หัวหน้าทีมวิจัยงานวิจัยศึกษาอัตราการเกิดโรคสมองเสื่อมและปัจจัยเสี่ยงบอกและว่า ปัจจัยตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดภาวะสมองเสื่อม อันดับแรกมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น อันดับสองคือมีกิจกรรมทางกายน้อย ไม่ออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายไม่เพียงพอ และอันดับสาม คือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน
ทั้งนี้ มีงานวิจัยหลายงานวิจัยทั่วโลกระบุว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า ส่วนปัจจัยเสี่ยงเสริมอื่นๆก็เช่น ช่วงระยะเวลาการนอนหลับไม่เพียงพอ ระยะการนอนหลับลึกน้อยกว่า 4-5 ชม.ต่อวัน
ทั้งนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา วารสารการแพทย์ เดอะแลนเซ็ท พับลิก เฮลท์ สหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง การประมาณความชุกของภาวะสมองเสื่อมทั่วโลกในปี 2019 และความชุกที่คาดการณ์ไว้ในปี 2050 : ระบุว่า ภายในปี 2593 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมากถึง 153 ล้านคน เพิ่มจาก 57 ล้านคนในปี 2562 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าในแต่ละปี ทั้งนี้ ภาวะสมองเสื่อมจะยังคงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั่วโลก เว้นแต่จะมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยภาวะสมองเสื่อมมีหลายรูปแบบ ทั้งโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ คิดเป็น 70% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลก ภาวะสมองเสื่อมส่วนหน้าที่เกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ภาวะสมองเสื่อมจากร่างกาย, การสะสมของโปรตีนที่เรียกว่า alpha-synuclein ที่ผิดปกติ ภาวะสมองเสื่อมในหลอดเลือดที่เกิดจากสภาวะที่ทำลายหลอดเลือดในสมอง รวมทั้งภาวะสมองเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งรูปแบบ
...
ลิซ แมคคาธี ผู้อำนวยการระบบสุขภาพและการวิจัยของ Alzhei mer’s Association ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมรายใหม่เกือบ 10 ล้านรายทั่วโลก ปี 2564 ในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันอายุ 65 ปีขึ้นไปราว 6.2 ล้านคน ต้องเผชิญกับโรคอัลไซเมอร์ โดยจำนวนนี้ 72% มีอายุ 75 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากสมาคมโรคอัลไซเมอร์ระบุว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 7 ในสหรัฐอเมริกาตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ.