ปัจจุบันมีบันทึกว่าซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลโฮมินิด (Hominid) ซึ่งหมายถึงมนุษย์และบรรพบุรุษที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์ ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในทวีปยุโรปคือ กระดูกกรามอายุ 1,200,000 ปี พบในเทือกเขาอตาปวยร์กา (Atapuerca) ภาคเหนือของสเปนเมื่อปี พ.ศ.2550 และแหล่งโบราณคดีอตาปวยร์กาก็อยู่ในรายชื่อมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ในพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยซากฟอสซิลและเครื่องมือโบราณมากมาย เช่น แท่งหินซึ่งมนุษย์ดึกดำบรรพ์ใช้เป็นเครื่องมือ มีอายุ 1,400,000 ปี ค้นพบในปี พ.ศ.2556

ล่าสุดนักบรรพชีวินวิทยาชาวสเปนเปิดเผยว่า เศษซากฟอสซิลกระดูกกรามที่ค้นพบใต้ชั้นดินราว 2 เมตร ในพื้นที่เดียวกันทางภาคเหนือของสเปนเมื่อเดือนที่แล้ว อาจเป็นฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดของบรรพบุรุษมนุษย์ การหาอายุทางวิทยาศาสตร์ของชิ้นส่วนกระดูกกรามชิ้นที่พบใหม่นี้ จะดำเนินการที่ศูนย์วิจัยวิวัฒนาการมนุษย์แห่งชาติในเมืองบูร์โกส อยู่ห่างจากอตาปวยร์กา ประมาณ 10 กิโลเมตร โดยกระบวนการนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนจึงจะเสร็จสิ้น ซึ่งนักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่า การวิเคราะห์จะสามารถช่วยระบุชนิดของกระดูกกรามที่เป็นของโฮมินิดเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจวิวัฒนาการของมนุษย์ในทวีปยุโรปได้ดีขึ้น

...

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้นักบรรพชีวินวิทยายังไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่ากระดูกกรามที่ค้นพบในปี 2550 เป็นของมนุษย์สายพันธุ์ใด แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะสอดคล้องกับสายพันธุ์ Homo antecessor ซึ่งค้นพบในทศวรรษที่ 1990.