ผู้บริหารแถวหน้าขององค์กรอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ สิทธิโชค นพชินบุตร ผู้มีประสบการณ์บริหารงานด้านการตลาดอย่างรอบด้าน มีแนวคิดที่น่าสนใจทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตรับมือยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

คุณอู๊ด-สิทธิโชค นพชินบุตร ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นอดีตแม่ทัพการตลาดคนสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสมาร์ทโฟนซัมซุงในตลาดไทย ปัจจุบันได้กลับมาร่วมงานกับซัมซุงอีกครั้ง โดยนั่งในตำแหน่ง รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ซึ่ง คุณอู๊ด บอกเล่าชีวิตการทำงานว่า ก่อนหน้าทำงานที่ P&G, เดอะไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป, และเป็น CMO ของดีแทค แล้วได้มาทำงานกับซัมซุง รอบแรกอยู่ 7 ปี แล้วก็ออก เพราะตั้งเป้าชีวิตว่าจะ early retire อยู่ 3 ปีกว่า ระหว่างนั้นทางซัมซุง ก็ชวนให้กลับมาทำงานเรื่อยๆ จนเกิดโควิดไปเที่ยวไหนก็ไม่ได้ เลยกลับมาทำงานอีกครั้ง ซึ่งรอบ 2 นี้ทำได้ปีกว่าแล้ว ซึ่งความรับผิดชอบในตำแหน่งนี้เรียกว่า ดูทุกอย่างทั้งฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด รีเทล ไฟแนนซ์ โซเชียล รวมทั้งแผนก innovation ที่ทำแอปพลิเคชันใหม่ๆ

...

การทำงานในยุคโควิดนี้ คุณอู๊ด บอกว่า ความท้าทายต่างไปจากเดิมเยอะมาก ส่วนที่ต่างคือการแข่งขันสูงขึ้น ช่วงที่แล้วเป็นช่วงที่เราสร้างแพลตฟอร์ม Android แล้วเราเป็นผู้นำตลาด ในช่วงที่ออกไป มีคู่แข่งหน้าใหม่ขึ้นมาเยอะ การแข่งขันในตลาดก็เปลี่ยนไป การทำงานท้าทายมากขึ้น ทั้งเรื่องข้างในองค์กร จะทำอย่างไรให้เราแอ็กทีฟ และมีทิศทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะช่วงโควิดทำอย่างไรให้คนรู้สึกตื่นตัว เพราะโควิดคน WFH กันเยอะ พอไม่ได้เจอหน้ากัน มันมีความห่างเหิน มีความลำบากในการสื่อสารเยอะ

“ส่วนหนึ่งของความท้าทายในการทำงาน โดยเฉพาะด้านการตลาดทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ธุรกิจตามลูกค้าไม่ทัน คือ ลูกค้าย้ายแพลตฟอร์มจากทีวี ไป google ไปยูทูบ ไปเฟซบุ๊ก ทุกวันนี้เขาย้าย TikTok เขาย้ายไป community คนพยายามไล่ตามคอนซูมเมอร์ว่าไปทางไหน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุก 6 เดือน เป็นเกมไล่คอนซูมเมอร์มากกว่า มากกว่าเป็นเกมนำคอนซูมเมอร์ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร ผมคิดว่าต้องคิดตามเทรนด์ให้ทัน และมีการสร้างวิธีการทำงานใหม่ให้คอนเนกกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นคนที่นำเรื่องของดิจิทัลในการทำงาน ผมว่าความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่มีมูลค่าสำหรับผม ถ้าเกิดว่าเราฟังแบบไม่ตั้งใจ ฟังไปอย่างนั้น เราจะเสียโอกาส ผมคิดว่า mindset ของคนทำ โดยเฉพาะฝั่งบริหาร ต้องฟังเยอะมาก ผมชอบฟังรุ่นเด็กๆ อย่างใน meeting ผมแยก 2 ประเด็นคือ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น การตัดสินใจอิงจากข้อมูลที่ได้มาจากน้องๆด้วย และผมชอบทำงานแบบ Trial and error ลองทำแล้วผิดดีกว่าที่ไม่ได้ลอง เพราะผิด ถ้าเราแก้เร็ว เราจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ ผมไม่มายด์เรื่องทำแล้วผิด ในลักษณะที่เราควบคุมได้ แต่ว่าผิดแล้วเราต้องแก้เร็ว”

ทำงานพิสูจน์ฝีมือมายืนหนึ่งในวันนี้ ผู้บริหารเก่งคนนี้ บอกว่า ความสุขใจในชีวิตนอกจากจะเห็นองค์กรที่เราทำงานเติบโตยั่งยืนแล้ว การได้เห็นทีมงานที่เก่งขึ้น ทำให้เราภูมิใจกับงานที่เขาทำด้วย ส่วนเป้าหมายในชีวิต ไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องครอบครัว เรื่องลูกมากกว่า อยากเลี้ยงให้เขาโตมาพึ่งพาตัวเองได้ และเป็นนักแก้ปัญหา สมัยนี้พ่อแม่เลี้ยงลูกทะนุถนอมลูกเกินไป อีกหน่อยเขาโตไป เขาก็จะเจอปัญหาโน้นปัญหานี้ จะแก้ไม่ได้ ถ้าเด็กคุ้นเคยกับการเจอปัญหา แล้วหาหนทางแก้ไข ต่อไปเขาก็แข็งแกร่งเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆในชีวิตได้...วิสัยทัศน์ในการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้บริหารเก่งคนนี้.