โรคพาร์กินสัน เป็นโรคสมองเสื่อมแบบหนึ่งจะเรียกว่าเป็นโรคพี่ โรคน้องกับอัลไซเมอร์ก็ว่าได้ ถึงแม้ว่าอาการจะไม่เหมือนกัน โดยที่ในโรคพาร์กินสันนั้น เป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวฝืด แข็ง จะมีสั่นมากหรือสั่นน้อยก็ได้
โดยเริ่มจากซีกใดซีกหนึ่งก่อน และต่อมาก็ลามไปทั้งตัว ทำให้นอน ลุก ยืน เดิน เป็นไปด้วยความยากลำบาก และต่อมามีการทรงตัวผิดปกติ ทั้งนี้ รูปลักษณะใบหน้าจะดูเฉยเมย ไม่มีอารมณ์ ตาไม่ค่อยกะพริบ ลูกหลานพากันกลัวว่าหน้าดุ
สำหรับโรคอัลไซเมอร์นั้น เริ่มต้นด้วยความจำปัจจุบันสั้นหดลงไปเรื่อยๆ พูดอะไร ทำอะไร จำไม่ได้ ลืมนัด ต่อมาลุกลามไปจนเกิดมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา คำพูด ความมีเหตุมีผล การตัดสินใจ แม้กระทั่งการสร้างเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน และในระยะต่อมา มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง จนกระทั่งติดเตียง
ทั้งนี้ โรคทั้งสอง โรคหนึ่งอาจจะปรากฏขึ้นมาก่อน และตามด้วยอีกโรคหนึ่งก็ได้ โดยที่ในตอนจบเป็นภาระกับคนใกล้เคียง ครอบครัวที่ต้องดูแลประคบประหงม 24 ชั่วโมง
แต่ถึงแม้ว่าอาการจะแตกต่างกัน แต่การกำเนิดของโรคและตัวการที่ทำให้โรคพัฒนาไปเรื่อยๆนั้นเหมือนกัน และเกี่ยวข้องกับสุขภาพของร่างกายโดยรวม ปัจจัยการใช้ชีวิต ชนิดของอาหาร มลพิษสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
...
กลไกในการเกิด ซึ่งขณะนี้รู้กันทั่วไปแล้วว่าเป็นที่โรงพลังงานของเซลล์ ที่เรียกว่าไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) โดยเป็นตัวคุมให้เซลล์อยู่รอดหรือจะตายไป และถือว่าเป็นปราการด่านหน้าที่รับ รู้รับทราบอันตรายที่เกิดขึ้นจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสารพิษหรือเชื้อโรค หรือความผิดปกติที่เกิดจากภายในจากเศษซากขยะที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ และชิ้นส่วนพันธุกรรมที่ผิดปกติไป
การคงให้สมดุลนี้อยู่ได้ จะมีการปรับเปลี่ยนรูปร่างอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับมีการผันแปร เป็นตัวใหญ่หรือแตกย่อยเป็นตัวเล็ก กระบวนการตัวใหญ่ (Fusion) คือการควบรวมไมโตคอนเดรียหลายตัวเข้าด้วยกันเปรียบเสมือนกับเอาของดีมาเจือจางของเลว ซึ่งกระบวนการทำให้ตัวเล็กนั้น หรือ fission คือการเลือกแยกแยะของเลวเพื่อปลดปล่อยออกไปทำลาย และให้ของดีคงอยู่ เพื่อให้เซลล์ไม่ตาย มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกนาน และในเวลาคับขัน ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญอันตรายจากภายในหรือภายนอก รวมกระทั่งถึงการขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ก็จะเป็นโหมดจำศีล ใช้พลังงานอย่างประหยัดมัธยัสถ์ รีไซเคิล ขยะ เหมือนกับหมีจำศีล ที่เรียกว่า autophagy
ในความผิดปกติของสมอง เช่นพาร์กินสันนั้น มีความบกพร่องในกระบวนการแยกตัวทำให้เกิดตัวเล็ก และยีนที่มีชื่อว่า DNM1L ที่ควบคุมการสร้างโปรตีนชื่อ Dynamin related protein 1 เกิดมีความผิดปกติโดยที่ยีนและโปรตีนนี้จะคอยควบคุมไมโตคอนเดรีย ว่า ขณะนี้ควรจะ fission หรือไม่อย่างไร และเป็นหัวใจที่ต้องทำการค้นหาและพัฒนาว่ามีอะไรที่สามารถปรับแก้ DNM1L นี้ได้
การค้นพบใหม่เอี่ยมนี้มาจากคณะผู้วิจัยที่ University of California, Los Angeles (UCLA) และได้รายงานในวารสารเนเจอร์ วันที่ 24 มีนาคม ปี 2022 โดยที่สามารถระบุยีนในตัวแมลงหวี่ Drosophila Clueless และในมนุษย์ที่เป็น mam malian orthologue หรือที่มีรากฐานเดียวกันแต่พบในสปีชีส์ต่างกัน คือ CLUH โดยที่ยีนนี้จะเป็นตัวควบคุม Drp1 อีกทีหนึ่ง
การที่ขาด Drp1 หรือ clueless ในแมลงหวี่ หรือ CLUH ในคนจะทำให้ตัวไมโตคอนเดรียใหญ่และยืดยาวออกไป (elonga tion) และในทางกลับกันการที่มีมากขึ้นจะทำให้มีการแบ่งแยกตัวไมโตคอนเดรีย (fragmentation) และเซลล์คงคุณภาพอยู่ได้
การทำงานประสานกันของ drp1 และ clueless เป็นสิ่งสำคัญ clueless และ CLUH จะช่วยส่งเสริมให้ drp1 เข้ามาอยู่ในไมโตคอนเดรีย โดย CLUH จะจับกับ mRNA ที่ควบคุม drp1 receptor MiD49 และ Mff และทำให้เกิดการสร้างโปรตีนที่เหมาะสม
เมื่อรวบรวมหลักฐานความรู้ที่เรามีอยู่ขณะนี้การที่จะมีไมโตคอนเดรียหรือโรงพลังงานชีวิตที่ดีและสมบูรณ์ได้ที่ทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อปกติ จะประกอบไปด้วยการที่มียีน PINK1 ที่สร้างโปรตีน parkin ในการปกป้องเซลล์จากอันตรายทั้งหลายที่จะมากระทบไมโตคอนเดรีย และกลับเข้าสู่โหมดประหยัดมัธยัสถ์ autophagy ทั้งนี้ โดยมี clu เข้าประกบช่วยเหลือ...ในขณะที่ยีน PINK1 เกิดผิดปกติและทำให้โปรตีน parkin ลดลงไปด้วย แต่ถ้าโปรตีน clu มีการสร้างเพิ่มขึ้นตอบสนองต่อความผิดปกติ ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นต่อโรงพลังงาน และเซลล์ รวมทั้งเนื้อเยื่อจะยังอยู่ปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่โปรตีน clu ไม่สามารถสร้างเพิ่มขึ้นตอบสนองได้ ก็จะเริ่มเห็นความผิดปกติในการทำงานของไมโตคอนเดรีย และเนื้อเยื่อเริ่มเสียหาย และถ้าโปรตีน clu กลับลดจำนวนกว่าปกติไปอีก
...
อันตรายจะเกิดขึ้นมหาศาลกับโรงพลังงาน จนกระทั่งไมโตคอนเดรียนี้ตายไป จุดจบของเซลล์ต่างๆที่มีปริมาณ และจำนวนมากขึ้น จะมีความสัมพันธ์มากขึ้น เป็นเงาตามตัวกับอาการพาร์กินสันที่มากขึ้นไปอีก จนกระทั่งไม่สามารถเยียวยารักษาฟื้นฟูให้กลับมาคงสภาพเดิมได้...
ผลของการศึกษาที่ได้นี้ไม่ได้ทำการทดลองแต่ในหลอดทดลองเท่านั้น แต่ยังมีการปรับแต่งพันธุกรรมให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมในตัวแมลงหวี่ และมีการปรับลดยีนและโปรตีนที่มีประโยชน์ แต่สามารถช่วยไว้ได้ด้วยการปรับเพิ่มโปรตีน clu และเมื่อโปรตีนที่มีประโยชน์เหล่านี้ลดลง จะยิ่งเร่งให้ความเสียหายเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมากมายขึ้นไปอีก...การค้นพบนี้ แม้ว่าจะเป็นในระดับของการวิจัยในห้องทดลองแต่โปรตีน CLUH ในมนุษย์มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับ Clueless ในแมลงหวี่ และเปิดช่องทางแสงสว่างในการชะลอการเกิดโรคและแม้กระทั่งเมื่อเกิดโรคไปแล้วทำให้โรคสงบ โปรตีน clueless เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วอาจจะออกมาดูไม่ดีว่า หมดหวังไม่มีเบาะแส มืดตึ้บ แต่กลับเป็นในทางตรงกันข้าม ไขปริศนากลไกที่คอยควบคุมระบบพลังงานของมนุษย์
เรายังมีความหวังครับ.