26 มิถุนายน “วันสุนทรภู่” ชาตกาล 236 ปี “ปู่ผู้มีแต่ให้”...นักการศึกษา มหากวีคนสำคัญแห่งยุคต้นรัตนโกสินทร์ นาม “ภู่” กลายเป็น “สุนทรภู่” และรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ เป็น “ขุนสุนทรโวหาร” เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร

ในฐานะผู้ชำนาญด้านประพันธ์บทกลอนรูปนิทานและนิราศ รู้จักกว้างขวางสมัยนั้นสืบทอดยาวนานถึงสมัยนี้...ฉากชีวิตสุนทรภู่ลุ่มๆดอนๆเคยขึ้นสูงสุดและเตี้ยต่ำถึงถูกจองจำคุกฐานลอบรักนางข้าหลวง วังหลังบุตรีผู้มีตระกูล ได้รับการอภัยโทษแล้วสัญจรทางเรือด้วยเจ็บช้ำ เพราะคิดถึงหญิงอันเป็นที่รัก

...ไปพร้อม 2 คู่หูสู่บ้านกร่ำ เมืองแกลง ระยอง เพื่อเยี่ยมพ่อซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่นั่น และนี่คือ...ที่มานิราศชิ้นแรกของสุนทรภู่ ชื่อ “นิราศเมืองแกลง” บอกเล่าถึงบ้านเมืองที่ล่องเรือผ่าน ปนสะอื้นไห้ระบายความในใจถึงหญิงนางนั้น หลังจากนั้นปี 2359 สมัย ร.2 สุนทรภู่เข้ารับราชการด้วยสามารถแต่งโคลงกลอนถวาย แต่ทำได้ 8 ปี ก็สิ้นแผ่นดินเจ้านายเหนือหัว จึงลาออกและบวชธุดงค์ไปถิ่นต่างๆ แล้วจำวัดเมืองหลวงที่วัดเลียบ วัดแจ้ง วัดโพธิ์ วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า...คืนหนึ่งฝันเห็นเทพยดาจะมาขอรับตัว

...

ครั้นพอตื่นให้ครุ่นคิดท่าจะถึงฆาตเมื่ออายุได้ 56 ปี...เสียแล้วสิเรา!

จากนั้นภิกษุภู่ก็กราบลาสิกขานัยว่าเพื่อเตรียมตัวตายในปีนั้น แต่เพราะความเป็นบุคคลผู้ร่ำรวยความสามารถ จึงได้กลับเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณด้านโคลงกลอนแก่ ร.4...มีชีวิตยืนยาวจนปี 2398 ก็ถึงแก่อนิจกรรมสิริรวมอายุได้ 69 ปี นับแต่วันเกิด 26 มิถุนายน 2329

เพื่อรำลึกถึงบุคคลผู้มีคุณแก่แผ่นดิน รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงมีแผนก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่บนที่ดิน 8.5 ไร่ในบ้านกร่ำ โดยเริ่มวางศิลาฤกษ์เมื่อ 30 ธันวาคม 2498 เสร็จและเปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมสักการะ 25 พฤษภาคม 2513 เป็นรูปหล่อสุนทรภู่คู่กับพระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทรและนางเงือก ในวรรณคดีเรื่องเอกของสุนทรภู่...ปี 2529 คือ ชาตกาลครบ 200 ปี

ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม เชิดหน้าชูตาคนไทยที่มี “เชกสเปียร์เมืองไทย” เช่นอังกฤษ มีวิลเลียม เชกสเปียร์ ผู้สร้างนิยายรักอมตะ “โรมิโอและจูเลียต”

0 0 0 0

ปี 2530 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันสุนทรภู่” มีพิธีพราหมณ์บวงสรวงประกอบด้วยเครื่องเซ่นไหว้ และกิจกรรมต่างๆขึ้น ณ ลานอนุสาวรีย์บ้านกร่ำ อ.แกลง

สถานที่แห่งนี้...นับเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของท้องถิ่น ที่ปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวไทยมากราบไหว้และต่างชาติมาเยือนมากมายนับหมื่นนับแสนคน อีกทั้งอยู่ในแผนส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชมโดยการท่องเที่ยว สำนักงานระยอง กำหนดให้เป็นเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนชาวสวนผลไม้ตะพง ชุมชนบ้านเพผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูป และชุมชนประมงปากน้ำประแสร์ เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวสู่ระยองมากขึ้นอีกด้วย

ธนภัธ สัตย์อุดม อายุ 62 ปี คนเฝ้าและบริการนักท่องเที่ยวลานอนุสาวรีย์มาร่วม 30 ปี เล่าว่า เคยคิดจะเปลี่ยนงานไปทำอย่างอื่น “ปู่ภู่”...ที่ชาวบ้านกร่ำนิยมเรียกเป็นสรรพนาม เหมือนรู้ได้มาเข้าฝัน “ลูกไม่ต้องเลิกให้อยู่ดูแลที่นี่ต่อไป แล้วปู่จะมอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้”

...

จากนั้นไม่ นาน...ป้าธนภัธก็พบ สิ่งบังเอิญในกระ ถางธูปเป็นพระสมเด็จองค์ปฐมไม่มีเจ้าของ ชัดเจนว่านี่คือสิ่งที่ปู่ภู่มอบให้จึงนำมาคล้องคอเพื่อเสริมมงคลแก่ตนเอง มีอยู่ครั้งหนึ่งป้าลืมคล้อง 2-3 วันติดกันกลับเกิดป่วยอย่างไม่มีสาเหตุ กินยาเท่าไหร่ก็ไม่หาย พอนึกถึงปู่หยิบพระสมเด็จองค์นั้นกลับมาคล้องคอเช่นทุกวัน

...เออแน่ะช่างอัศจรรย์ ชั่วครู่เท่านั้นหายเป็นปลิดทิ้ง?

“เคยมีบางครั้งปู่มาเข้าฝันให้ช่วยเก็บขยะที่คนทิ้งไว้ไกลตาก็ไปจัดเก็บบริเวณนั้นแล้ว กวาดทำความสะอาดให้ ถึงรู้ว่าปู่เป็นคนละเอียดอ่อนชอบรักษาความสะอาดเป็นชีวิตจิตใจ”

0 0 0 0

...

อนงค์รัตน์ หรือ “ครูอ้อ” บุตรสาววัย 42 ปี ดีกรีมหาบัณฑิตสาขาบริหารการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จันทบุรี เริ่มแรกทำงานเป็นครูอัตราจ้าง สอนวิชาศิลปะโรงเรียนวัดป่าประดู่ อ.เมืองระยอง ได้โอกาสแสดงความสามารถทำหัวควายประกอบเพลง “รักบ้านทุ่ง” ในรอบชิงชนะเลิศการประกวดเพลงลูกทุ่งทางรายการ โทรทัศน์ชื่อดังช่องหนึ่ง...“ทีแรกนึกว่าง่ายเหมือนเขียนภาพหัวสัตว์ทั่วไป ก็เริ่มทำหัวควายเป็นรูปกลมๆใส่เขา แต่ดูผิดส่วนไม่เหมือนจริงเสียที คนบ้านกร่ำเขาเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณปู่ภู่ที่ดลใจให้ช่วยลูกหลาน จึงไปกราบไหว้อธิษฐานขอให้งานประดิษฐ์หัวควายครั้งนี้สวยงาม และลุล่วงด้วยดี”

ครูอ้อ บอกว่า ไม่น่าเชื่อ...หลังวันนั้นเวลาที่เหลือเพียง 4 วันจะเป็นวันแห่งโชคช่วยหรืออย่างไรที่อยู่ๆเพื่อนครูเกิดไปพบกะโหลกควายอยู่ข้างห้องศิลปะ เอามาให้ครูอ้อได้เปรียบเทียบโครงสร้างและสัดส่วนหัวควายแล้วทำโมเดลขึ้นมา ไม่เพียงเท่านั้นลูกศิษย์ชายหญิง 2 คนที่มาช่วยงาน ต่างก็รู้สัมผัสหัวควายเป็นอย่างดีเพราะที่บ้านเลี้ยงควายเป็นอาชีพ จึงดลบันดาลให้ครูอ้อสร้างสรรค์งานชิ้นนี้สำเร็จ และเป็นส่วนหนึ่งของรีวิวเพลง

...

...“รักบ้านทุ่ง” จากความเชื่อที่ว่ามาจากแรงอธิษฐานจาก “ปู่ภู่” นั่นเอง

ชีวิตคนแจวเรือจ้างอย่างครูอ้อ ดำเนินต่อไปได้ด้วยการเป็นครูอัตราจ้างโยกย้ายไปตามพื้นที่ต่างๆ ก่อนตัดสินใจสอบบรรจุโดยก่อนสอบไม่กี่วันหมอดูให้ไปสวดมนต์สักการะปู่ภู่ 14 จบ แล้วเริ่มกล่าวคำบูชาบทนะโม 3 จบ ต่อด้วย...“ยะมะหัง ท่านสุนทรภู่ สะระณังคะโต อิมินาสักกาเรนะตัง ท่านสุนทรภู่ อะภิปูชะยามิ”

ผลสอบปรากฏครูอ้อสอบบรรจุติดที่แปดริ้ว แล้วย้ายไป 2-3 พื้นที่ก่อนย้ายสู่โรงเรียนชุมชนวัดกลางกร่ำ บ้านเกิดจนวันนี้ ว่ากันว่า...สุนทรภู่เมื่อยังมีลมหายใจก็ได้ชื่อว่าเป็นเอกบุรุษผู้สร้างพื้นฐานการศึกษาให้ชาวประชามาตลอดชีวิต หรือแม้จากลาโลกนี้ไปแล้ว 236 ปี...วิญญาณปู่ภู่ก็คงสิงสถิตอยู่คู่ลานอนุสาวรีย์แห่งนี้ ในมิติ “พระผู้ให้” สู่ลูกหลานไทยที่ใส่ใจทางด้านการศึกษาอันจะยังประโยชน์ต่อแผ่นดิน ดังจะเห็นได้จากหลายคน...ไม่ว่าจะมาจากภูมิภาคใด เพื่อบนบานรูปหล่อบนเนินดินแทนองค์จริงปู่ภู่ ตั้งจิตอธิษฐานขอโยกย้าย เลื่อนขั้น

หรือการใดอันเกี่ยวกับการศึกษาทุกสาขาวิชา...มักสมปรารถนา อันเป็นความเชื่อที่เกิดจาก “แรงศรัทธา” มากกว่า “อิทธิฤทธิ์หรือปาฏิหาริย์” ที่จะดลบันดาลให้ได้ ถ้าไม่รู้จัก “เคารพและบูชา” เป็นสรณะ

“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”.

รัก-ยม