ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้การนำของกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย มุ่งสู่เป้าหมาย “Change for Good” ทำให้โลกใบเดียวของทุกคนมีอายุยืนยาวตราบนานเท่านาน ด้วยแนวคิด 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”

งานนี้ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) โดยมี “กีต้า ซับบระวาล” ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยและ “อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา” รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ผู้แทนสำนักงานสหประ ชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม ESCAP Hall ชั้น 2 ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ

ปลัดกระทรวงมหาดไทยบอกเล่าว่า ถือเป็นโอกาสแรกที่กระทรวงมหาดไทยได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับยูเอ็น เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมสร้างความร่วมมือกับยูเอ็นและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ตามพันธสัญญาจากเวทีประชุม COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย โดยกำหนดชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13

...

ด้าน “กีต้า ซับบระวาล” ชี้ว่า การประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนในวันนี้ เป็นประวัติศาสตร์สำคัญของพวกเราทุกคน เพราะเป็นครั้งแรกที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งผู้แทนสำนักงานทั้งหมดมาพร้อมหน้ากันด้วยความตั้งใจ เพื่อสร้างประเทศไทยที่มั่นคง, มั่งคั่ง และยั่งยืน เมื่อปี 2564 ครบรอบปีที่ 75 ของการเป็นภาคีสมาชิกสหประชาชาติของไทยและยูเอ็นได้เล็งเห็นคุณค่าของความร่วมมือและอนาคตยิ่งใหญ่ ที่จะร่วมงานกับผู้ว่าฯทุกจังหวัด เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ประเทศในการสร้างความมั่งคั่ง และเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายเป็นแรงขับเคลื่อน ยูเอ็นพร้อมสนับสนุนวิสัยทัศน์นี้ ทั้งการสนับสนุนระหว่างประเทศ ตลอดจนความเชี่ยวชาญทางนโยบายและเทคโนโลยี ผลการลงพื้นที่ของยูเอ็นในไทยที่ผ่านมาพบลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละจังหวัด ซึ่งยูเอ็นได้เรียนรู้สถานการณ์และความท้าทายเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน.