อาหารติดคอ ฟังดูอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ความจริงแล้วส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ เช่นกรณีที่เน็ตไอดอลสาว อลิส-อริศรา กาพย์เดโช เสียชีวิตเนื่องจากสาเหตุอาหารติดคอจนทำให้ขาดอากาศหายใจแล้วไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน ซึ่งอุบัติเหตุแบบนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครและเวลาใดก็ได้ ดังนั้นเราควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลตนเอง หรือผู้อื่นที่มีอาการอาหารติดคอเบื้องต้น ว่าต้องทำอย่างไรได้บ้าง

อาหารติดคอตนเองและอยู่คนเดียว

ในกรณีที่เราอาหารติดคอเราเองและตอนนั้นอยู่ตามลำพัง อันดับแรกคือตั้งสติให้ดีอย่าตื่นตระหนกเพราะจะทำให้อาการแย่กว่าเก่า แล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. กำหมัดข้างหนึ่งวางตรงเหนือสะดือ
  2. ใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้แล้วก้มหัวให้มือพาดขอบแข็งๆ เช่น พนักเก้าอี้ ขอบโต๊ะ เป็นต้น
  3. ก้มตัวลงแรงๆ เพื่อกระแทกหมัดอัดเข้าท้องในลักษณะดันขึ้นข้างบน ทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง จนกว่าอาหารที่ติดคอจะหลุดออกมา

อาหารติดคอผู้ใหญ่และเด็กโต

สำหรับกรณีนี้ให้ใช้ วิธีรัดท้องอัดยอดอก หรือ รัดอัดท้อง โดย

  1. ไปยืนข้างหลังผู้ป่วย ใช้แขน 2 ข้างโอบรอบเอวผู้ป่วย
  2. กำหมัดข้างหนึ่งวางบริเวณเหนือสะดือผู้ป่วยเล็กน้อยใต้ต่อกระดูกอ่อนซึ่งเรียกบริเวณนี้ว่าลิ้นปี่
  3. ใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้แล้ว ทำการอัดเข้าท้องแรงๆ เร็วๆ ขึ้นไปข้างบน ทำคล้ายกับจะพยายามยกผู้ป่วยขึ้น
  4. อัดหมัดเข้าท้องซ้ำๆ กัน หลายๆ ครั้ง จนกว่าอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมที่ติดคอจะหลุดออกมา หรือจนกว่าผู้ป่วยจะหมดสติ

...

ในกรณีคนอ้วนลงพุง หรือหญิงตั้งครรภ์ ให้ใช้วิธี “อัดอก” โดยกำหมัดวางไว้กลางอกบริเวณราวนม แล้วใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้ แล้วอัดอกแรงๆ เพื่อกระแทกมือที่กำหมัดไว้ให้กดกระดูกกลางอก เข้าไปในทรวงอกตรงๆ ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง จนสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาหรือผู้ป่วยหมดสติ

อาหารติดคอเด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี

  1. จับทารกนอนคว่ำบนแขน ให้ศีรษะต่ำลงเล็กน้อย
  2. ใช้ฝ่ามือตบลงตรงกลางหลังของทารก (ระหว่างกลางของสะบัก 2 ข้าง) เร็วๆ 5 ครั้ง
  3. ถ้าไม่ได้ผล จับทารกนอนหงายบนแขนให้ศีรษะต่ำ แล้วใช้นิ้วชี้กับ นิ้วกลางวางบนกระดูกหน้าอกเหนือกระดูกลิ้นปี่ แล้วกดอกลงประมาณสักครึ่งถึง 1 นิ้ว เร็วๆ 5 ครั้ง
  4. ถ้าไม่ได้ผล ให้ทำการ "ตบหลัง" ประมาณ 5 ครั้ง สลับกับ "กดหน้าอก" อีก 5 ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุด หรือจนกว่าทารกหมดสติ

อาหารติดคอแล้วมีอาการหมดสติร่วมด้วย

หากเจอกรณีที่อาหารติดคอแล้วผู้ป่วยหมดสติร่วมด้วย ต้องทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้น
  2. เปิดทางหายใจให้โล่ง โดยใช้มือยกปลายคางขึ้น แล้วกดศีรษะลง
  3. ตรวจในช่องปาก ถ้ามองเห็นสิ่งแปลกปลอมชัดเจน ให้ใช้นิ้วชี้ค่อยๆ เขี่ยและเกี่ยวออกมา แต่ต้องระวังอย่าทำแรง หรือลึกเกินไป เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปลึกกว่าเดิม โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ถ้าสิ่งแปลกปลอมหรืออาหารอยู่ลึกเกินไป หรือมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม ห้ามใช้นิ้วล้วงโดยเด็ดขาด เพราะจะเกิดอันตรายได้
  4. ลองช่วยหายใจโดยการเป่าปาก 2 ครั้ง ครั้งละ 1-1.5 วินาที ถ้าเป่าแล้ว หน้าอกผู้ป่วยยกขึ้น ให้เป่าลมหายใจให้ผู้ป่วย ดังต่อไปนี้
    10-12 ครั้ง/นาทีในผู้ใหญ่
    12-20 ครั้ง/นาทีในเด็กโต
    20-24 ครั้ง/นาทีในเด็กเล็ก
  5. ถ้าหน้าอกไม่ยกขึ้นให้ทำการอัดท้อง 6-10 ครั้ง ในท่านอนหงายสำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 1 ปี หรือทำการตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับกดหน้าอก 5 ครั้ง
    ในทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ทำต่อเนื่องจนกว่าสิ่งแปลกปลอมหลุด หรือผู้ป่วยหายใจเองได้
  6. ตรวจดูช่องปาก ทำการเขี่ยและเกี่ยวสิ่งแปลกปลอมออก แต่ถ้าสิ่งแปลกปลอมยังไม่หลุดออกมา หรือผู้ป่วยยังหายใจด้วยตัวเองไม่ได้ ให้ทำตามข้อ 4-6 ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล
  7. ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่หายใจและไม่ขยับเลย ให้เป่าปาก และนวดหัวใจแทน จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล เนื่องจากการนวดหัวใจโดยการ กดหน้าอก อาจช่วยให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาได้ พร้อมกับตรวจเช็กช่องปากตามข้อ 3 เป็นระยะ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีอาหารติดคอหรือมีสิ่งแปลกปลอมติดคอ แต่ยังสามารถไอแรงๆ ได้ พูดได้ และหายใจเป็นปกติ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ให้รีบไปหาหมอโดยเร็วที่สุดทันที เพราะการช่วยเหลือด้วยการใช้นิ้วล้วงคอ เพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออกมา อาจจะยิ่งทำให้ดันอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจจนเกิดอันตรายได้ แต่ถ้าในกรณีที่อาหารติดคอหรือมีสิ่งแปลกปลอมติดคอแล้วไปอุดกั้นทางเดินหายใจจนไม่สามารถสื่อสารได้ ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามวิธีที่ได้แนะนำไปข้างต้น

อ้างอิงข้อมูล: มูลนิธิหมอชาวบ้าน