ในที่สุด “กัญชา” ก็ได้ปลดล็อกออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ภายใต้เป้าหมาย 3 เรื่อง คือ 1. เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ 2. ให้เกิดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทั้งในกลุ่มเครื่องสำอาง สมุนไพรและอาหาร รวมถึงส่งเสริมงานวิจัยนวัตกรรม และ 3. เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง ทั้งนี้ประโยชน์ของกัญชารักษาอะไรได้บ้างนั้น เช็กได้ที่นี่

กัญชาออกฤทธิ์อย่างไร

กัญชา มีสารประกอบเรียกว่า Cannabinoids จำนวนมาก โดยมีตัวหลัก คือ THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ที่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งสารประกอบทั้ง 2 ชนิดนี้ออกฤทธิ์ต่างกัน

  • THC ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และกระตุ้นให้อยากอาหาร
  • CBD มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง

กัญชารักษาโรคอะไรได้บ้าง

ปัจจุบันได้มีการศึกษาพบว่ากัญชารักษาโรคได้มากมาย ซึ่งมีทั้งโรคที่มีงานวิจัยรองรับและโรคที่ยังต้องการงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

6 โรค/อาการ ที่กัญชารักษาได้ โดยมีงานวิจัยสนับสนุนชัดเจน

  • ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
  • โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
  • ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง ที่ใช้วิธีรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล
  • ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักน้อย
  • การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต

...

4 กลุ่มโรค/ภาวะ ที่น่าจะได้รับประโยชน์จากกัญชา แต่ยังต้องการงานวิจัยเพิ่มเติม

  • โรคพาร์กินสัน
  • โรคอัลไซเมอร์
  • โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง)
  • โรคอื่นๆ ที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการว่าน่าจะได้รับประโยชน์

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจำนวนมากที่พบจากการทดลองว่า สารประกอบ cannabinoids หลายชนิดมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ รวมถึงยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ และยับยั้งการกระจาย แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในผลการรักษามะเร็งในมนุษย์

ใครที่ไม่สามารถใช้กัญชารักษาโรคได้

ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใช้กัญชารักษาโรคได้ โดยผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ห้ามใช้กัญชาในการรักษา

  • กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • มีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตนเอง
  • โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตจากสารเสพติด โรคจิตเภท
  • รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคไต ที่มีอาการรุนแรง
  • มีประวัติแพ้สารสกัดกัญชา

ทั้งนี้ สารสกัดกัญชาหรือยากัญชารักษาโรค ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากัญชา ก็ไม่สามารถซื้อสารสกัดกัญชาใช้เอง แต่ต้องผ่านการวางแผนการรักษาจากแพทย์เท่านั้น

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ที่จะใช้กัญชารักษาโรค จะต้องผ่านการอบรมอย่างถูกต้อง ก่อนจะจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้รับจากสถานที่ผลิตมาตฐานที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง ซึ่งจะต้องพิจารณาการรักษาด้วยวิธีอื่นก่อน เพราะยากัญชาไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการรักษาโรค

อ้างอิงข้อมูล: กระทรวงสาธารณสุข