เผย 21 วิธีหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือการหลอกลวงผ่านโทรศัพท์ และโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ที่มิจฉาชีพมุ่งหลอกโอนเงิน หรือขโมยข้อมูลส่วนตัว พบกลุ่ม Gen Z-Y เป็นเหยื่อจำนวนมาก เพราะใช้โซเชียลมีเดียบ่อย ส่วนรุ่นใหญ่ไม่ค่อยใจอ่อน แต่ถ้าพลาดก็สูญเงินมากกว่าใคร

สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานภาวะสังคมไตรมาส 1 ปี 2565 เกี่ยวกับวิธีหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต หรือทางเฟซบุ๊ก ว่า มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดสภาพัฒน์จึงร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด สำรวจวิธีการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 คือเดือนมกราคมถึงมีนาคมที่ผ่านมา โดยผู้ที่ถูกสำรวจคือ ประชากรอายุระหว่าง 17-77 ปี จำนวน 5,798 ตัวอย่าง 20 จังหวัดทั่วประเทศ และสัมภาษณ์เชิงลึก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่มีประสบการณ์ถูกหลอกลวง 31 คน กลุ่มภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2 คน และกลุ่มภาควิชาการ 4 คน รวมจำนวน 37 คน

ผลการสำรวจพบว่า วิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีประเภทการหลอกลวงแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ และรวมได้ 21 วิธี คือ

กลุ่มแรก หลอกลวงผ่านการซื้อขาย มีวิธีการหลอกลวง 5 วิธี และพบมูลค่าความเสียหายต่อคน 688-7,214 บาท

  1. หลอกขายสินค้าออนไลน์ แต่ไม่ได้รับของ
  2. หลอกขายสินค้าออนไลน์ แต่ได้ของไม่ตรงคุณสมบัติ
  3. หลอกส่งของแบบเก็บเงินปลายทาง
  4. หลอกให้ประมูลสินค้าทางอินเทอร์เน็ต
  5. หลอกว่าเป็นบุคคล หรือผู้ประกอบการ หรือนายหน้า


กลุ่มสอง หลอกลวงข้อมูลส่วนตัว 6 วิธี พบมูลค่าความเสียหายต่อคน 5,775-25,968 บาท

  1. หลอกลวงเกี่ยวกับการทำงาน
  2. อีเมล SMS หลอกลวง (Phishing)
  3. หลอกลวงมัลแวร์ ฝังตัวมากับเว็บไซต์ หรือโปรแกรม หรือไฟล์
  4. ถูกแฮกบัญชี หรือหลอกขอบัญชีโซเชียลมีเดีย
  5. หลอกขอเลขที่บัญชีเงินฝากเพื่อเป็นที่พักเงิน
  6. หลอกขอข้อมูลบัตรเครดิต เดบิต นำไปซื้อสินค้า

...

กลุ่มสาม หลอกลวงโดยอ้างว่าจะให้ผลประโยชน์ 7 วิธี มูลค่าความเสียหายต่อคน 1,410-11,686 บาท

  1. แอบอ้างบุคคลหรือหน่วยงาน หรือมีเส้นสาย
  2. หลอกลวงว่าได้รับรางวัล หรือถูกรางวัล
  3. หลอกปล่อยเงินกู้นอกระบบ
  4. หลอกว่าได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ
  5. หลอกลวงว่ามีปัญหา หรือทำผิดกฎหมาย
  6. หลอกลวงให้ลงทุนในลักษณะต่างๆ
  7. หลอกลวงให้เล่นพนันโดยมีสูตรโกง

กลุ่มสี่ หลอกลวงโดยอาศัยความสัมพันธ์ หรือความสงสาร มี 3 วิธี มูลค่าความเสียหายต่อคน 451-7,586 บาท

  1. พิศวาสอาชญากรรม
  2. หลอกลวงว่าญาติพี่น้อง หรือคนรู้จักกำลังเดือดร้อน
  3. หลอกลวงให้บริจาคเงิน

Gen Y Gen Z ถูกใจมิจฉาชีพ

กลุ่มเป้าหมายของบรรดามิจฉาชีพที่ตั้งใจเข้ามาหลอก และหลอกสำเร็จมากที่สุด เพราะใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าเจเนอเรชันอื่นๆ คือ กลุ่มเจเนอเรชัน (Generation) Y และ Z ที่สำรวจพบว่า ประมาณ 57 เปอร์เซ็นต์ เคยโดนหลอก โดยกลุ่ม Gen Z ถูกหลอกสำรวจ 52 เปอร์เซ็นต์ เสียเงิน ทรัพย์สินต่อคนประมาณ 1,278 บาท ส่วน Gen Y ถูกหลอกสำเร็จ 44.9 เปอร์เซ็นต์ เสียเงิน ทรัพย์สินต่อคนประมาณ 2,331 บาท

กลุ่มอายุมากขึ้น คือ Gen X เคยถูกหลอก 46.9 เปอร์เซ็นต์ ถูกหลอกสำเร็จ 30.5 เปอร์เซ็นต์ เสียเงิน ทรัพย์สินต่อคนประมาณ 2,975 บาท และ Baby Boom เคยถูกหลอก 26.1 เปอร์เซ็นต์ ถูกหลอกสำเร็จ 26.4 เปอร์เซ็นต์ เสียเงิน ทรัพย์สินต่อคนประมาณ 4,622 บาท

เมื่อรวมผู้ถูกสำรวจ 5,699 คน พบว่า เคยโดนหลอก 48.1 เปอร์เซ็นต์ ไม่เสียหาย 57.4 เปอร์เซ็นต์ เสียหาย เสียเงิน ทรัพย์สิน 39.9 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าคนละ 2,400 บาท.