มนุษย์และชิมแปนซีมีบรรพบุรุษร่วมกัน แต่วิวัฒนาการแยกจากกันเมื่อประมาณ 7 ล้านปีก่อน สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยสงสัยมายาวนานก็คือการสื่อสารด้วยเสียงของชิมแปนซีว่าอาจจะคล้ายกับจุดเริ่มต้นของภาษาในเชื้อสายวิวัฒนาการของมนุษย์หรือไม่ เพื่อไขคำตอบนี้ นักวิทยาศาสตร์มองว่าต้องสำรวจต้นกำเนิดวิวัฒนาการของภาษา

ล่าสุดทีมนักนิเวศวิทยาด้านพฤติกรรมจากสถาบันวิทยาการปัญญาของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศสเผยว่า นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่าชิมแปนซีใช้การเปล่งเสียงต่างๆในป่า ทีมจึงบันทึกเสียงร้องมากกว่า 4,800 รายการที่ผลิตโดยชิม แปนซี 3 กลุ่มที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติตาอี ตั้งอยู่บนชายฝั่งไอวอรี โคสต์ หนึ่งในป่าเขตร้อนที่เก่าแก่ในแอฟริกาตะวันตกและเป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์นานาชนิด ทีมตรวจพบระบบการสื่อสารด้วยเสียงในหมู่ลิงชิมแปนซีป่าที่มีความซับซ้อนและมีโครงสร้างมากกว่าที่เคยรู้จัก โดยระบุว่าชิมแปนซีมีการใช้เสียงร้องเรียกหลายสิบแบบรวมกันเป็นลำดับต่างๆหลายร้อยลำดับ

ประเภทการร้องของชิมแปนซีมีทั้งทำเสียงทางจมูกแสดงความฮึดฮัดไม่สบอารมณ์ เสียงหวูด เสียงหอน เสียงร้อง เสียงเห่า เสียงกรีดร้อง เสียงครวญคราง เสียงหอบคำราม และการตบปากที่ไม่มีเสียงร้อง ฯลฯ นักวิจัยระบุว่า ประเภทการร้องเหล่านี้ถูกใช้ใน 390 ลำดับที่แตกต่างกัน และลำดับที่ลิงชิมแปนซีส่งเสียงร้องนั้นดูจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์และโครงสร้าง แม้การศึกษาจะไม่ได้รวมข้อสรุปเกี่ยวกับความหมายที่อาจเป็นไปได้ก็ตาม แต่นักวิจัยคิดว่าลำดับเสียงที่แตกต่างนี้มีความสำคัญ เพราะแสดงให้เห็นหลักฐานของการสื่อสารที่มีโครงสร้าง ซึ่งอาจเป็นรากฐานของวิวัฒนาการไปสู่รูปแบบไวยากรณ์ในภาษาของมนุษย์.