หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด ต้องเคยเผชิญกับจุดที่หนักหน่วงที่สุดในชีวิต เมื่อรู้ว่าลูกชายคนเดียวของตนเองเป็น “ผู้พิการทางการได้ยิน” อย่างถาวร ซึ่งกลายเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้เขาต้องสวมบทบาทความเป็นผู้นำครอบครัวเพื่อฝ่าฟันวิกฤติในครั้งนี้

ธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้ก่อตั้งหลักสูตรสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ (ABC-Academy of Business Creativity) และเจ้าของเพจ “เขียนไว้ให้เธอ” เล่าว่าเคยเชิญ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาบรรยายเรื่องภาวะผู้นำ (Leadership) ในหลักสูตร ABC ซึ่งชัชชาติได้แชร์ประสบการณ์เรียนรู้ภาวะผู้นำจากลูกชายคนเดียวของเขา “แสนปิติ สิทธิพันธุ์” ไว้อย่างลึกซึ้ง

บทเรียนภาวะผู้นำครั้งแรกของชัชชาติ เรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ

ขณะที่ลูกชายของเขาอยู่ในวัยหนึ่งขวบก็เริ่มสังเกตเห็นถึงความผิดปกติจากการไม่สนใจเสียงรอบข้าง จึงได้ไปตรวจจึงได้รู้ว่าลูกชาย “หูหนวก” นาทีที่รู้ข่าวก็รู้สึกเหมือนโลกถล่มลงมาต่อหน้า เพราะนอกจากหูหนวกแล้วยังพูดไม่ได้เพราะไม่ได้ยินเสียงจึงไม่สามารถสื่อสารได้ เขาจึงกังวลว่าลูกชายจะสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไร ซึ่งนี่เป็นบทเรียนแรกของภาวะผู้นำ ที่สอนว่าสิ่งเลวร้ายและไม่ได้คาดคิดอาจจะเกิดขึ้นได้แบบไม่ทันตัวเสมอในชีวิตของเรา

บทเรียนภาวะผู้นำครั้งที่สอง การตั้งสติของชัชชาติ

เมื่อรู้ว่าลูกชายหูหนวก ชัชชาติก็พยายามหาความหวังทุกวิถีทางให้ลูกชายกลับมาเหมือนคนปกติ ตั้งแต่การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปบนบานศาลกล่าวตามที่ต่างๆ ไปจนถึงการลองเปิดเพลงเสียงดังๆ ด้วยความหวังว่าลูกจะได้ยิน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จึงทำให้เขาเรียนรู้ภาวะผู้นำของครอบครัวจากการตั้งสติเพื่อหาทางออก

...

บทเรียนภาวะผู้นำครั้งที่สาม ทางเลือกของชัชชาติ

หลังจากที่ตั้งสติเรื่องลูกชายได้ เขาก็ใช้ความเป็นนักวิชาการศึกษาหาทางเลือกต่างๆ เพื่อรักษาเด็กหูหนวก จนพบว่ามีการใส่ประสาทหูเทียมเพื่อรักษา ซึ่งแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่ที่ออสเตรเลีย แต่เมื่อติดต่อไปแล้วกลับถูกปฏิเสธการรักษาเพราะต้องดูแลคนไข้จำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เขาจึงตัดสินใจยอมเสี่ยงดวงทิ้งอาชีพด้านวิชาการที่กำลังไปได้สวยในขณะนั้นสมัครทุนไปทำงานวิจัยที่ออสเตรเลีย เพื่อให้แพทย์ยอมรับการรักษาลูกชายของเขา

บทเรียนภาวะผู้นำครั้งที่สี่ เข้าใจปัญหาและมองหาแรงบันดาลใจ

หลังจากที่ลูกชายได้รับการติดตั้งประสาทหูเทียม ก็ต้องมีการฝึกฝนพ่อแม่เพื่อเรียนรู้และเข้าใจการทำงานของเครื่องนี้ว่ามีการส่งสัญญาณอย่างไร รวมทั้งต้องให้เวลาลูกชายได้ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะสื่อสารด้วย บทเรียนนี้จึงสอนชัชชาติให้ฝึกความอดทนภายใต้ความรักที่มีต่อลูก แม้ว่าจะใช้เวลายาวนานแต่ก็ทำให้ลูกชายเริ่มสื่อสารได้

บทเรียนภาวะผู้นำครั้งที่ห้า อย่ายอมแพ้

ในช่วงที่ต้องฝึกฝนเรียนรู้นั้นกินเวลานานหลายเดือน ชัชชาติยอมรับว่ามีหลายครั้งที่รู้สึกและอยากล้มเลิก จนอยากกลับประเทศไทย แต่ก็หาแรงบันดาลใจเพื่อให้มีความหวัง นั่นคือการทำเพื่อลูกชาย ซึ่งเป็นแรงผลักดันไม่ให้เขายอมแพ้

บทเรียนภาวะผู้นำครั้งที่หก ความสำเร็จของชัชชาติ

หลังจากที่ชัชชาติใช้ความพยายามและความอดทนอยู่หลายปี ในที่สุด “แสนปิติ” ลูกชายของเขาก็สามารถพูดได้ โดยเขาเลือกฝึกลูกเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันลูกชายของชัชชาติเรียนอยู่ที่ university of washington สหรัฐอเมริกา สามารถสื่อสารได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามประสาเด็กวัยรุ่นยุคใหม่ ซึ่งนอกจากลูกชายเขาแล้ว ยังมีครอบครัวเด็กหูหนวกอีกหลายคนเดินตามรอยชัชชาติ ทำให้มีเด็กหูหนวกหลายคนที่สามารถพูดได้เหมือนลูกชายของเขา

ด้วยเหตุนี้ การเรียนรู้ความเป็นผู้นำของชัชชาติจึงไม่ได้มาจากการทำงานในตำแหน่งใหญ่โต หรือการเป็นนักการเมือง แต่มาจากการเรียนรู้และปรับตัวในภาวะวิกฤติของชีวิต โดยมีลูกชายเป็นแรงผลักดันให้เขาก้าวข้ามผ่านอุปสรรค จนขัดเกลาให้เขากลายเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่แข็งแกร่ง และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา

...