ขอแสดงความยินดีกับ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนที่ 17 ที่ชาวกรุงเทพฯ รอคอยมาเกือบ 10 ปี ที่จะได้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างเสรี ซึ่งประวัติชีวิตการทำงานและไลฟ์สไตล์ของผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุดนี้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย
ประวัติ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ
การทำงาน
ก่อนที่จะลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นที่รู้จักในฐานะนักการเมืองครั้งแรก จากตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคลระดับหัวกะทิของรัฐบาลในด้านการวางยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรางเป็นพิเศษ ผลงานในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรี ได้แก่ การแก้แบบสถานีกลางบางซื่อให้รองรับรถไฟความเร็วสูง การแก้แบบสายสีแดงเข้มจาก 3 ทางเป็น 4 ทาง การจัดซื้อจัดขบวนรถด่วนพิเศษ CNR จำนวน 8 ขบวน, การเปลี่ยนรางรถไฟในภาคเหนือตอนบนทั้งหมดให้ข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไปนั่งรถเมล์มาทำงานแล้วรายงานปัญหา
ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะลงสนามการเมือง ชัชชาติเคยทำงานเป็นวิศวกรโครงสร้างในบริษัทเอกชนมาก่อน จากนั้นได้เบนเข็มมาทำงานด้านวิชาการ โดยเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายจัดการทรัพย์สิน นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง
...
ขณะที่ ชัชชาติ ยังทำงานในฐานะนักวิชาการ ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานและให้คำปรึกษาแก่กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 และรัฐบาลสมัคร จากนั้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เขาได้รับการทาบทามให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสร้างผลงานจนเป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบัน และหลังจากสิ้นสุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เขาได้เบนเข็มไปทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) จากนั้นก็ได้ลาออกมาสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี พ.ศ. 2565
ครอบครัวอบอุ่นในแบบชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นบุตรของพลตำรวจเอกเสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กับจิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา สองคนคือ
รศ.ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ - อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.นายแพทย์ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ - กรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2562-2564 คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นฝาแฝดผู้พี่ของชัชชาติ
ชัชชาติ สมรสกับ ปิยดา พนักงานการบินไทย มีบุตรชายหนึ่งคน คือ แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด โดยได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียม เมื่อปี พ.ศ. 2545 และเป็นแรงบันดาลใจให้ชัชชาติต้องการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่เข้าใจผู้พิการอย่างแท้จริง
การศึกษาโดดเด่นของชัชชาติ สิทธิพันธุ์
มัธยมต้น: โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มัธยมปลาย: โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ปริญญาตรี: วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท: วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
ปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ไลฟ์สไตล์ติดดิน และแกร่งที่สุดในปฐพี
สำหรับด้านไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของชัชชาติ เขาเป็นคนที่ชอบการใช้ชีวิตแบบติดดิน แม้ว่าตอนที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ยังโหนรถเมล์ ซ้อนวินมอเตอร์ไซค์ นั่งรถสองแถว โดยสารรถไฟ ออกตรวจราชการในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อตรวจปัญหาด้วยตนเอง และมีหลายครั้งที่เขาไปตรวจงานตามองค์กรของรัฐโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ในมุมของความเป็นพ่อ เขาได้ทุ่มเทเวลาในการดูแลลูกชายเพียงคนเดียวที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน จนถึงขั้นสอบชิงทุนจากรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อพาลูกไปรักษาที่นั่น จากนั้นก็ทำความเข้าใจชีวิตของลูกชายที่เป็นคนพิเศษ จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาต้องการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่เท่าเทียมสำหรับผู้พิการ
...
และจากการที่มีลูกชายเป็นผู้พิการ เขาจึงมีเป้าหมายคือการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่กับลูกให้นานที่สุด โดยเวลาว่างของชัชชาติมักจะไปวิ่งออกกำลังกายหรือปั่นจักรยานที่สวนลุมพินี อยู่เป็นประจำ ด้วยความที่เขาเป็นคนติดดิน ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนมักจะพบเจอและขอถ่ายรูปเขาอยู่เป็นประจำ