หากใครได้ฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา เช็กสภาพอากาศจากสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ในบางวันก็อาจเห็นคำว่า "ฟ้าหลัว" ซึ่งมักจะเป็นเกิดขึ้นในตอนกลางวัน ซึ่งเป็นคำที่หลายๆ คน อาจยังไม่เข้าใจว่าฟ้าหลัวหมายถึงอะไร บทความนี้ จึงนำสาระความดีๆ มาฝากกัน

ทำความรู้จัก "ฟ้าหลัว" คืออะไร?

ฟ้าหลัว คือ ลักษณะของอากาศขุ่นมัว ครึ้มๆ ท้องฟ้าไม่โปร่งใสคล้ายๆ มีหมอกกลางแสงแดดในตอนกลางวัน อาจมีสีฟ้าขุ่นหรือสีน้ำตาล แม้จะไม่ได้มีเมฆฝนตั้งเค้าก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นในฤดูร้อน ซึ่งคำว่าฟ้าหลัวก็มาจากสภาพอากาศที่ฟ้าสลัวๆ ในตอนกลางวันนั่นเอง

ฟ้าหลัวมีลักษณะอย่างไร?

ฟ้าหลัว เกิดจากมวลอนุภาคขนาดเล็กที่ลอยขึ้นมาแขวนอยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่น เขม่าควันมลพิษ ละอองเกสรดอกไม้ ไอเกลือทะเล ฯลฯ โดยเฉพาะในกลางวันของฤดูร้อนที่มีอากาศแห้ง ทำให้อนุภาคเหล่านี้โดนอากาศร้อนหอบลอยตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ฟุ้งกระจายและลอยแขวนอยู่ในอากาศได้ง่าย

...

มีลักษณะคล้ายหมอก แม้จะเจอแสงแดดก็อากาศแบบฟ้าหลัวก็ไม่หายไป ทำให้ทัศนวิสัยไม่ชัดเจน ดูขมุกขมัวตลอดทั้งวัน ทำให้หลายคนเรียกว่า "หมอกแดด" ซึ่งแตกต่างจากหมอกที่เกิดขึ้นในฤดูหนาว ที่เมื่อเจอแสงแดดส่องมา ก็จะหายไป หรือในฤดูฝนที่เมื่อฝนตกลงมา ก็จะชะล้างฝุ่นละออง ทำให้ท้องฟ้าหลังฝนตกสดใสกว่าปกติ

ฟ้าหลัว อันตรายไหม?

ฟ้าหลัวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่อันตราย สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในกลางวันของฤดูร้อน เพียงแค่จะมีอากาศขมุกขมัว ท้องฟ้าไม่แจ่มใส เหมือนท้องฟ้าครึ้มตลอดทั้งวันทั้งที่มีแดดจัด อาจบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นสำหรับบางอาชีพได้ ทั้งนี้ หากได้ยินกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศว่า "ฟ้าหลัวในตอนกลางวัน" ก็ไม่ต้องกังวล สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ในวันนั้นจะมีอากาศร้อนและแดดจัดมากนั่นเอง