ในปี พ.ศ.2489 รัฐบาลสวีเดนเสนอเงินอุดหนุนจากรัฐสำหรับเทศบาลที่เสนออาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้กับนักเรียนทุกคนในโรงเรียนประถมศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยกำหนดมาตรฐานโภชนาการที่เข้มงวดในแต่ละมื้ออาหารที่ต้องมีโปรตีน วิตามิน แคลเซียม และธาตุเหล็กในปริมาณที่กำหนด
นโยบายโครงการอาหารโรงเรียนของกลุ่มประเทศนอร์ดิก ทั้งสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และบอลติก อย่างเอสโตเนีย มีความก้าวหน้ามาตั้งแต่ช่วงปี 1940 สวีเดน ฟินแลนด์ และเอสโตเนียจัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการมาเป็นเวลานานให้กับนักเรียนทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในขณะที่เด็กในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น นอร์เวย์และเดนมาร์ก นำอาหารกลางวันแพ็กกล่องมาเองที่โรงเรียน
ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นสวีเดนและนอร์เวย์ ที่มีนโยบายการปฏิรูปอาหารกลางวันในโรงเรียน โดยเฉพาะเมนูอาหารที่ไม่มีน้ำตาล หรือที่เรียกว่า Sugar Free ที่นอกจากจะทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีสุขภาพดี ส่งผลถึง พัฒนาการ การเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงไปสู่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารในระดับสากล
...
เด็กชาวนอร์เวย์บริโภคผลไม้ ผัก และของขบเคี้ยวที่ไม่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับหลักเกณฑ์ด้านอาหาร และพบว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการสร้างแนวทางปฏิบัติในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
เมื่อเร็วๆนี้มีการจัดงาน “วันโรคอ้วนโลก” หรือ World Obesity Day รายงานจาก World Obesity Federation ปี 2565 พบว่าทั่วโลกมีคนเป็นโรคอ้วนประมาณ 800 ล้านคน ในจำนวนนี้ 39 ล้านคน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และอีกประมาณ 340 ล้านคน เป็นเด็กและวัยรุ่นอายุ 5-19 ปี
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน พบคนไทยมีภาวะอ้วนราว 19.3 ล้านคน หรือประมาณ 34.1% ของประชากร อธิบายง่ายๆคือ 1 ใน 3 ของประชากรไทยมีภาวะอ้วน โดยถ้าเทียบในระดับภูมิภาคอาเซียน พบว่าไทยมีความชุกของโรคอ้วนในประชากรเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย ขณะที่ข้อมูลจากกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานความชุกของปัญหาน้ำหนักเกินหรืออ้วนในผู้ใหญ่ ในปี 2564 อยู่ที่ 47.2% เพิ่มขึ้นจาก 34.7% ในปี 2559
ที่น่ากังวลคือ พบปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินในเด็กเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ ในปี พ.ศ.2564 โดยความชุกของโรคอ้วนและน้ำหนักเกินในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่ 9.07% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 5.7%
นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพฯ (BARSO) บอกว่า โรคอ้วนไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจอีกด้วย 13.2% ของงบประมาณสาธารณสุขทั่วโลก คิดเป็นเงิน 9.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 29 ล้านล้านบาท สูญเสียไปกับปัญหาน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน โดยปัญหานี้ก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท หรือ 1.27% ของ GDP ทั้งประเทศ และถ้าปัญหานี้ยังไม่ถูกแก้ไข ในอีก 40 ปีข้างหน้าอาจกระทบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้สูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท หรือ 4.88% ของ GDP ซึ่งนับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อประเทศไทย ความสูญเสียนี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายทางตรง (Direct cost) สำหรับการรักษาพยาบาลเกือบ 5 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายทางอ้อม (Indirect cost) 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
...
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) มุ่งหวังที่จะ “หยุดการเพิ่มขึ้น” ของวิกฤติโรคอ้วน (Obesity Crisis) ทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2025 ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ที่หากเป็นโรคอ้วนแล้วจะส่งผลถึงสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวที่ประมาณไม่ได้.