ภาพข่าวของไทยรัฐออนไลน์คว้า 2 รางวัลในการจัดประกวดภาพถ่ายที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เนื่องใน “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” (World Press Freedom Day) ประจำปี 2565 โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) เป็นผู้ริเริ่มให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี มีสถานะเป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ตั้งแต่ปี 2534 เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อ และย้ำเตือนรัฐบาลทั่วโลกให้เคารพและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

การจัดประกวดภาพถ่ายครั้งนี้ได้แบ่งเป็น 2 หัวข้อ สำหรับผู้เข้าประกวด 2 กลุ่มคือ หัวข้อ “กว่าจะมาเป็นข่าว” สำหรับผลงานจากสื่อมวลชน และหัวข้อ “อยากเห็นภาพนี้เป็นข่าว” สำหรับผลงานจากประชาชนทั่วไป

คณะกรรมการตัดสินภาพได้คัดเลือกภาพถ่ายที่ชนะรางวัลประเภทละ 8 ภาพ โดยกลุ่มสื่อมวลชน มีหลักเกณฑ์การตัดสิน คือ 1. องค์ประกอบภาพและความสวยงาม 2. ภาพสื่อความหมายตรงโจทย์ 3. ความยากลำบากในการทำงาน และเบื้องหลังการทำงานสื่อที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยได้เห็น

ผลการคัดเลือกภาพถ่ายที่ชนะรางวัล “Popular Vote” อยู่ในประเภทสื่อมวลชน โดยนับจากยอดแชร์-ไลค์อันดับสูงสุดในโซเชียลมีเดีย ซึ่งความพิเศษของปีนี้คือภาพชนะเลิศที่คณะกรรมการคัดเลือก ปรากฏว่าเป็นภาพเดียวกันที่ได้ Popular Vote คือภาพผลงานของ Patipat Janthong จาก Voice

ภาพโดย: Patipat Janthong จาก Voice
ภาพโดย: Patipat Janthong จาก Voice

...

โดยมีความเห็นของกรรมการ คือ ประชาชนที่รับชมข่าวสารทางบ้าน คงคุ้นเคยกับภาพการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัว แต่ก็อาจจะไม่ทราบถึงความแรงของน้ำที่ฉีดออกมา (บางคนคิดว่าเหมือน "เล่นน้ำสงกรานต์" ก็มี) ถ้าหากสังเกตจากภาพนี้ เราเห็นเศษไม้ที่แตกกระจายฟุ้งขึ้นเมื่อน้ำปะทะกับต้นไม้ ไม่ต้องพูดถึงแรงปะทะกับร่างกายคนถ้าหากโดนเข้าจังๆ ขณะที่นักข่าว-ช่างภาพต้องรีบหลบกันจ้าละหวั่น บางคนก้มลงสุดตัวเพื่อปกป้องกล้องถ่ายภาพจากละอองน้ำ แต่บางคนก็ยกกล้องขึ้นมาเพื่อถ่ายภาพสถานการณ์ตรงหน้า นับเป็นภาพถ่ายที่สื่อให้เห็นเหตุการณ์จริง "กว่าจะมาเป็นข่าว" ได้อย่างยอดเยี่ยม

ในส่วนช่างภาพไทยรัฐออนไลน์ได้รับ 2 รางวัล คือ รางวัลรองชนะเลิศโดย เอกลักษณ์ ไม่น้อย ซึ่งคณะกรรมการมีความเห็นเกี่ยวกับภาพนี้ ว่า "หลายคนอาจเข้าใจว่าสื่อมีหน้าที่เพื่อเก็บภาพความรุนแรงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงหน้างานบางครั้ง ถ้าหากมีผู้บาดเจ็บต่อหน้าต่อตา สื่อมวลชนก็ยื่นมือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วยหลักมนุษยธรรมด้วยเช่นกัน"

ภาพโดย: เอกลักษณ์ ไม่น้อย
ภาพโดย: เอกลักษณ์ ไม่น้อย

สำหรับอีกรางวัลที่ไทยรัฐออนไลน์ได้รับคือรางวัลชมเชย โดย Kun Jumpa หรือ วัชรชัย คล้ายพงษ์ ซึ่งมีความเห็นของกรรมการ คือ สื่อมวลชนเป็นอาชีพที่แข่งขันกันสูง แต่คนทำงานสื่อไม่ได้แข่งขันกันอย่างเดียว เมื่อสื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยงหรือรุนแรง เรามักจะเห็นสื่อมวลชนเกาะกลุ่มกัน เพื่อช่วยดูแลซึ่งกันและกันอย่างในภาพนี้เสมอ

ภาพโดย: Kun Jumpa หรือ วัชรชัย คล้ายพงษ์
ภาพโดย: Kun Jumpa หรือ วัชรชัย คล้ายพงษ์

สำหรับประเภทประชาชนทั่วไปกับหัวข้อ “อยากเห็นภาพนี้เป็นข่าว” มีหลักเกณฑ์การตัดสิน คือ 1. องค์ประกอบภาพ และ ความสวยงาม 2. ภาพสื่อความหมายตรงโจทย์ 3. สะท้อนปัญหาสังคมในเรื่องราวที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยเห็น หรือไม่เคยเป็นข่าว ผลคือ รางวัลชนะเลิศ เป็นของผลงาน Glomyoo Chumphon

ภาพโดย: Glomyoo Chumphon
ภาพโดย: Glomyoo Chumphon

...

ซึ่งความเห็นของกรรมการ คือ ปัญหาขยะและมลพิษในทะเลยังเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆ เท่าที่ควร ภาพนี้ชวนสะท้อนใจว่า ขยะที่ลอยออกจากเมืองกรุงมักจะกลายเป็นมลพิษในชายหาดที่ห่างไกลจากสายตาหลายคน เป็นปัญหาที่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ต้องมา “ตามล้างตามเช็ด” เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของตน

อ่านรายละเอียดผู้ได้รับรางวัลเพิ่มเติมที่
https://www.tja.or.th/view/news/1340678