รู้หรือไม่ว่านอกจากสิทธิประกันสังคมที่ช่วยคุ้มครองลูกจ้างในมาตรา 33 แล้ว ยังมี “กองทุนเงินทดแทน” ซึ่งเป็นกองทุนที่นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเป็นรายปีให้กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อใช้ในกรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต จากการทำงานให้นายจ้างเท่านั้นอีกด้วย ดังเช่นกรณีที่ ลูกจ้างหรือพนักงานประสบอุบัติเหตุจากการใช้เครื่องจักรในขณะปฏิบัติงาน ซึ่งกองทุนเงินทดแทนจะเป็นฝ่ายจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยให้กับพนักงาน

กองทุนเงินทดแทนคุ้มครองอะไรบ้าง

ค่ารักษาพยาบาล

  • ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง
  • หากรุนแรงหรือเรื้อรัง สามารถจ่ายเพิ่มได้อีกตามความจำเป็นตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล หากเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ

ค่าทดแทนรายเดือน

  • เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง จนเป็นเหตุให้มีการหยุดงาน สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหาย จะได้ค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน และไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในท้องที่ที่ลูกจ้างประจำทำงานอยู่โดยได้รับเงินทดแทนสูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน

ค่าทำศพ

  • จ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพในอัตรา 50,000 บาท

ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน

  • กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตรายสำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข

...

ระยะเวลาและสถานที่ในการยื่นเรื่อง

  • นายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจ แจ้งแบบการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย (กท.16) ณ สำนักงานประกันสังคมที่ลูกจ้างทำงานอยู่ หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนา ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้าง
  • ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิสามารถยื่นคำร้องขอเงินทดแทน ณ สำนักงานประกันสังคม ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประสบเหตุ
  • หรือหากการเจ็บป่วยเกิดขึ้นหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างให้ยื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย

อย่างไรก็ตาม กองทุนเงินทดแทนเป็นส่วนที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบและให้ความคุ้มครองเฉพาะจากการทำงานเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่านายจ้างทุกกิจการจะต้องจ่ายเงินสมทบให้กองทุนเงินทดแทน เพราะบางกิจการก็ได้รับการยกเว้น เช่น

  • ราชการส่วนกลาง, ราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่นเฉพาะข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ
  • รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
  • รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ สำหรับลูกจ้างซึ่งมิใช่เป็นการจ้างงานในประเทศ
  • ลูกจ้างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ต่างจากกองทุนประกันสังคมอย่างไร

โดยทั่วไปแล้วลูกจ้างส่วนใหญ่จะรู้จักกองทุนประกันสังคมมากกว่า เพราะเป็นกองทุนที่ผู้ประกันตนในมาตรา 33 นายจ้าง และรัฐบาลเป็นคนจ่ายเงินสมทบ โดยกองทุนประกันสังคมจะให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนใน 7 กรณี ที่ไม่ได้มาจากการทำงาน ได้แก่

  • เจ็บป่วย
  • คลอดบุตร
  • ทุพพลภาพ
  • เสียชีวิต
  • สงเคราะห์บุตร
  • ชราภาพ
  • ว่างงาน

ตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัทเกิดอุบัติเหตุจักรยานล้มจนขาหัก ก็สามารถใช้บัตรประชาชนยื่นขอใช้สิทธิประสังคมในการเข้ารักษากับโรงพยาบาลที่เลือกไว้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใต้เงื่อนไขของประกันสังคม

ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างกองทุนเงินทดแทน กับ กองทุนประกันสังคม มีอยู่ 2 ส่วนหลัก คือ ผู้ที่จ่ายเงินสมทบ กับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองนั่นเอง