ปีที่แล้วเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติ ความคิดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศภายในปี พ.ศ.2573 ซึ่งอาจแก้ไขความเสียหายที่ได้ทำไปแล้ว ดังนั้น การนำเสนอโครงการอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้จำเป็นต้องมีรากฐานที่ถูกต้อง เช่น การสำรวจและทำแผนที่ของพืชพรรณที่มีอยู่

ล่าสุดนักวิจัยของ EcoVision Lab จากแผนกวิศวกรรมโยธา สิ่งแวดล้อม และธรณีฟิสิกส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในนครซูริก สวิตเซอร์แลนด์ เผยว่า ได้ใช้โครงข่ายประสาทเทียมสร้างแผนที่ความสูงของพืชพรรณทั่วโลกที่มีความละเอียดสูงฉบับแรกจากภาพถ่ายดาวเทียม ที่ต้องทำแผนที่นี้ก็เพราะว่าไม่รู้ว่าต้นไม้ทั่วโลกสูงแค่ไหน และคงจะดียิ่งขึ้นถ้ารู้ว่าต้นไม้อยู่ที่ไหน เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการตัดต้นไม้ นั่นก็คือการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าตอนนี้คาร์บอนถูกปล่อยออกมามากเท่าไหร่ จึงคาดหวังว่าแผนที่นี้จะให้ข้อมูลที่สำคัญสำหรับการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญพันธุ์ของบรรดาสายพันธุ์บนโลก ตลอดจนการวางแผนการพัฒนาระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน

ส่วนคอมพิวเตอร์อ่านความสูงของต้นไม้จากภาพถ่ายดาวเทียมได้อย่างไรนั้น ทีมอธิบายว่า ได้ปล่อยให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ตัวกรองภาพที่ดีที่สุด โดยใช้ภาพจากดาวเทียม Copernicus Sentinel-2 จำนวน 2 ดวงขององค์การอวกาศยุโรป ดาวเทียมคู่นี้จับภาพทุกตำแหน่งบนโลกทุกๆ 5 วันด้วยความละเอียด 10x10 เมตรต่อพิกเซล และเป็นภาพที่มีคุณภาพสูงสุดในปัจจุบันที่เผยแพร่สู่สาธารณะ.

Credit : EcoVision Lad