“ต้นไม้ต้องมีราก...รากที่ดีจะทำให้ต้นไม้เติบโตได้ดี สู้แดดสู้ฝนได้ ประเทศก็เช่นกัน การที่จะหารากของประเทศ เราต้องหาจากสิ่งที่บรรพบุรุษทำไว้ สถานที่ดีที่สุดที่จะหารากของประเทศ หรือวัฒนธรรมของเรา คือ “พิพิธภัณฑ์” คอลเลกชันเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบุรีรัมย์เล็กๆของผมนี้ ผมทุ่มเทใช้ความพยายามมาเกือบทั้งชีวิต ผมหวังว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่จะมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ เพื่อเรียนรู้เหมือนในต่างประเทศ นอกจากได้เรียนรู้แล้ว เราจะได้เห็นรากเหง้า เห็นสิ่งที่บรรพบุรุษทำมา ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจ และความภาคภูมิใจนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศต่อไป”

นี่คือปณิธานของสองสามีภรรยา “โยธิน และวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ” ซึ่งตัดสินใจเปิดกรุสมบัติทรงคุณค่าส่วนตัว มอบ “คอลเลกชันเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ จำนวน 164 รายการ” ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคอลเลกชันที่สมบูรณ์และดีที่สุดในโลก ให้กรมศิลปากรนำไปจัดแสดงเป็นสมบัติของชาติ อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เพื่อให้คนไทยได้ภาคภูมิใจว่าประเทศไทยคือศูนย์กลางการผลิตเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพสูงมาตั้งแต่ครั้งโบราณ จากแหล่งเตาเผาจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาเป็นสินค้าส่งออกไปยังราชสำนัก เมืองพระนคร และเมืองอื่นๆในราชอาณาจักรเขมรโบราณ

...

เริ่มหลงเสน่ห์เครื่องถ้วยเขมรได้อย่างไร

เมื่อปี 2528 ผมไปเดินตลาดของเก่าข้างวัด มหาธาตุ เห็นคุณลุงแก่ๆมีของเก่าเครื่องเคลือบโบราณ 5-6 ชิ้น เป็นกระปุกนกเล็กๆ ขุดได้จากหนองแจง ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี เห็นแล้วชอบจึงซื้อในราคา 300 บาท นั่นคือของสะสมชิ้นแรก จากนั้นได้ศึกษาเครื่องกระเบื้องโบราณอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะ “เครื่องถ้วยเขมร” จนมีองค์ความรู้ที่สามารถแยกแยะได้ว่างานศิลป์แบบไหนเป็นงานศิลป์ที่ดี เป็นของที่มีความหมาย และเป็นของชิ้นสำคัญที่ควรสะสม จนปี 2535 ผมก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และเริ่มมีเงินเยอะขึ้น จึงตั้งใจสะสมจริงจัง
การเสาะแสวงหาวัตถุโบราณในยุคนั้นยากง่ายขนาดไหน

ความเสียหายจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้นักสะสมมือสมัครเล่นที่รวยจากตลาดหุ้นได้หายไปส่วนหนึ่ง นักสะสมของเก่าในตลาดเมืองไทยจึงเหลือแต่ตัวจริงไม่กี่ราย ทำให้ผมมีโอกาสมากขึ้น ที่สำคัญช่วงนั้นตลาดการค้าของเก่าได้เปลี่ยนไป โดยเครื่องถ้วยที่อยู่ในไทย จะต้องซื้อขายผ่านเทรดเดอร์รายใหญ่ที่คุมตลาดอยู่ พวกนี้มีลูกค้ารายใหญ่ๆคนสำคัญหลายคน ซึ่งผมไม่ได้อยู่ในลิสต์นั้น ดังนั้น เมื่อมี “ของดี” ขึ้นมา เขาจะติดต่อรายใหญ่ก่อน แต่ถ้าเป็น “ของ” ที่เกิดแถวชายแดน จะมีพ่อค้ารายย่อยนำเข้ามาขายในกรุงเทพฯ โดยแหล่งใหญ่คือตลาดนัดของเก่าที่สวนจตุจักร และนี่คือโอกาสของผม

มีเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีกลยุทธ์และความพยายามอย่างสูงด้วย?

ผมไม่ใช่คอลเลกเตอร์รายใหญ่ ทุกเช้าวันเสาร์ต้องตื่นตี 5 ไปอยู่ที่ตลาดนัดของเก่าสวนจตุจักร ทำแบบนี้ 7-8 ปี จนสนิทกับผู้ค้าของเก่า ผมเลือกพ่อค้า 2-3 ราย ที่เชื่อว่าเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย ขณะเดียวกันก็เป็นคนดี ซื่อสัตย์ และสามารถพัฒนาองค์ความรู้ได้ แล้วให้เงินทุนเขาไว้ เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อมหมดแล้ว สิ่งที่ผมเฝ้ารอคือ “ลมตะวันออก” เท่านั้น และลมตะวันออกก็พัดมาจริงๆ

ซุ่มเงียบขนาดไหน กว่าจะกลายเป็นนักสะสมแถวหน้าของเมืองไทย

ปี 2542 ผมเริ่มพบ “ของคุณภาพ” ที่ไม่เคยพบมาก่อนในไทย หรือของลักษณะที่ไม่เคยปรากฏในไทยมาก่อน ซึ่งผมต้องเป็นคนแรกที่เห็นของพวกนี้ อย่างน้อยที่สุดถ้าไม่เห็นต้องได้ข่าวก่อน จึงทำให้ผมสามารถเลือกซื้อของชิ้นที่มีคุณค่าสมบูรณ์ที่สุดไว้ได้ ไม่มีใครรู้ว่าผมเก็บของพวกนี้ ผมทำอย่างนี้อยู่ 7 ปีเต็ม จนปี 2548 ของดีเริ่มน้อยลง และผมคิดว่าสะสมได้เพียงพอแล้ว

...

พร้อมเปิดกรุสมบัติล้ำค่าให้โลกเห็นตอนไหน

ผมมีวัตถุดิบที่ดีอยู่ในมือแล้ว จึงคิดถึงการทำหนังสือ เพื่อเปิดให้เห็นความงามและคุณค่าของงานศิลป์แต่ละชิ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ตั้งชื่อหนังสือว่า “Khmer Ceramics : Beauty and Meaning” เพราะเชื่อว่าความงามเป็นสากลและความงามทำให้เกิดศรัทธา เมื่อเกิดศรัทธาก็จะอยากค้นหาความหมายของมัน งานนี้ได้ “Robert McLeod” ช่างภาพชื่อดังระดับนานาชาติ และยังเป็นนักสะสมของเก่ามาถ่ายรูปถ่ายทอด “ความงาม” ของเครื่องถ้วยแต่ละชิ้น ส่วนความหมายที่จับต้องได้เป็นวิทยาศาสตร์ ต้องทำวิจัยว่าของแต่ละชิ้นผลิตจากแหล่งเตาไหน ยุคไหน มีเทคนิคและวิวัฒนาการอย่างไร ผมให้ทุน “อาจารย์ปริวรรต ธรรมาปรีชากร” ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำวิจัยเรื่องเครื่องถ้วยเขมร และนำมาเขียนในหนังสือเล่มนี้ นอกจากนี้ยังได้ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษฎา พิณศรี” ตีความหมายเครื่องถ้วยแต่ละชิ้น ขณะที่ “Dawn F. Rooney” ผู้เชี่ยวชาญเครื่องถ้วยเขมรที่มีชื่อเสียงของโลก มาช่วยถ่ายทอดความงามกับความหมายให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และได้รับความกรุณาจาก “หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์” ช่วยเอดิทหนังสือ และหาดีไซเนอร์ที่อังกฤษมาออกแบบหนังสือให้ ปรากฏว่าเมื่อคอลเลกชันเครื่องถ้วยเขมรชุดนี้ถูกเผยแพร่ความงามและคุณค่าผ่านหนังสือภาพดังกล่าวในปี 2553 ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก ทำให้ผมมีความสุขมาก ถือว่าได้ทำทุกอย่างที่อยากทำหมดแล้ว ทั้งรักทั้งหวงขนาดนี้ ทำไมกล้ายกคอลเลกชันทั้งหมดเป็นสมบัติของชาติ

...

เมื่อปี 2554 เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ผมต้องขนสมบัติที่ผมรักทั้งหมดนี้ หนีน้ำขึ้นไปไว้ชั้นสองของบ้าน และเกิดความกังวลอย่างมากกลัวน้ำจะเข้าบ้าน เพราะของเก่าจะมีปัญหากับความชื้น เหตุการณ์นั้น ทำให้ผมกลับมาคิดว่าผมกับคุณวิวรรณไม่มีลูก แต่มีสิ่งของสะสมที่รักและมีคุณค่าต้องดูแล หากวันหนึ่งผมกับภรรยาไม่อยู่แล้ว ของรักที่สะสมมา 20-30 ปี อาจกระจัดกระจายไปคนละทาง จึงคิดจะมอบให้พิพิธภัณฑ์ แต่ก็กลัวเขาจะดูแลของเราไม่ดี เลยหาทางออกว่าจะขาย ผมตั้งราคาไว้ 5-10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 150-300 ล้านบาท) คิดว่าคนที่ซื้อไปต้องดูแลรักษาอย่างดี จนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมได้ข้อมูลสำคัญจากอาจารย์ปริวรรตว่า จากการทำวิจัยต่อเนื่องพบข้อมูลว่า เครื่องถ้วยเขมรที่เป็นสีน้ำตาล และเครื่องถ้วย 2 สี ทั้งที่พบในไทยและกัมพูชา ซึ่งรวมถึงคอลเลกชันที่ผมมี ทั้งหมดถูกผลิตหรือทำขึ้นจากแหล่งเตาที่จังหวัดบุรีรัมย์เท่านั้น เนื่องจากไม่พบเตาที่เผาเครื่องถ้วยแบบนี้ที่ไหนอีกเลย ทั้งในไทยและพื้นที่กัมพูชาในปัจจุบัน ผมตกใจมาก เพราะข้อมูลนี้ทำให้ทราบว่าแหล่งเตาเผาที่บุรีรัมย์ เป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบขนาดใหญ่เพียงแหล่งเดียวเท่านั้น ที่ส่งออกไปใช้ในอาณาจักรเขมร แล้วส่งกระจายไปทั้งในเขมรสูง คืออาณาจักรเขมรฝั่งไทย และเขมรต่ำ คืออาณาจักรเมืองพระนคร นครวัดนครธมในสมัยบายน แสดงว่าเมืองไทยเป็นฮับการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเครื่องถ้วยตั้งแต่สมัยนั้น ซึ่งข้อมูลนี้มีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะก่อนหน้านั้นราว 10 ปี เราเพิ่งเจอถนนที่เป็นเส้นตรงจากพิมายผ่านมาทางบุรีรัมย์ และตรงไปที่นครวัดนครธม โดยเส้นทางนี้ใช้ทางเกวียนวิ่ง 7-10 วัน ก็ถึงพระนคร ผมจึงคิดทบทวนว่าเครื่องถ้วยของผมชุดนี้มีความสำคัญ และมีคุณค่ามากกว่าที่จะเอาไปขายให้ใครก็ไม่รู้ มันควรเป็นสมบัติของชาติมากกว่า และผมไม่ได้ต้องการเงิน หากขายจริงๆผมและคุณวิวรรณอาจมีเงินเพิ่มอีกเป็นร้อยล้านบาท แต่เงินทองที่เรามีอยู่ก็พอใช้พอกินไปตลอดช่วงชีวิตเราแล้ว

...

อยากฝากอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังบ้าง

ผมมอบคอลเลกชันนี้ให้พิพิธภัณฑ์เป็นสมบัติของชาติ เพื่อจุดประสงค์สำคัญคือ 1) ให้คนไทย โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ได้ภาคภูมิใจว่าคนไทยในอดีตเก่งจริง เราเป็นฮับการผลิตมาตั้งแต่ก่อนจะมีรัฐไทย เนื่องจากผมอยู่ในอุตสาหกรรมการสร้างโรงงานต่างชาติ ผมทราบดีถึงความสามารถของแรงงานฝีมือไทย และ 2) เครื่องถ้วยชุดนี้ เมื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ จะดึงดูดคนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์อีกมาก ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพราะเป็นชุดที่มีชื่อเสียง ผู้ที่สะสมเครื่องถ้วยไทยและเขมรรู้จักกันดี ตอนพบกับ “คุณนิตยา กนกมงคล” ผอ.สำนักพิพิธ ภัณฑสถานแห่งชาติ แจ้งว่ากำลังปรับปรุงห้องพิพิธภัณฑ์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งเสร็จไปหลายส่วนแล้ว และจะเริ่มปรับปรุงห้องจัดแสดงวัตถุโบราณสมัยลพบุรี ถ้าได้ของชุดนี้มาจะจัดแสดงไว้ในห้องลพบุรี เพราะยุคสมัยลพบุรี ต้องมีเครื่องถ้วยลพบุรี (ในที่นี้คือเครื่องถ้วยเขมร) ทางพิพิธภัณฑ์มีห้องจัดแสดงยุคสมัยต่างๆครบแล้ว ทั้งห้องสมัยทวารวดี, ศรีวิชัย, หริภุญชัย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ยังเหลือห้องลพบุรี ซึ่งเครื่องถ้วยเขมรของผมจะมาเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์

ถึงตอนนี้อิ่มใจเหมือนที่ตั้งใจไว้หรือยัง

พอกลับบ้านไปผมบอกภรรยาว่า ผมรู้สึกเบา และมีความอิ่มเอมใจมาก เพราะรู้สึกว่า “ของได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่” และได้เป็น “สมบัติของชาติของแผ่นดิน” เป็นของที่จะได้รับการต่อยอดต่อไปสำหรับการศึกษา สำหรับผู้ที่สนใจและเยาวชนได้เข้ามาดู ได้มีความภาคภูมิใจ ตอนน้องๆเจ้าหน้าที่มาทยอยขนของจากบ้านไปที่พิพิธภัณฑ์ ผมรู้สึกปีติยินดีมาก ยินดีว่าสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด ความหมายน่าจะอยู่ตรงนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่ง ที่ผมมุ่งมั่นทุ่มเทเอาชนะทุกสิ่งเพื่อสะสมรวบรวมงานศิลป์ จนได้งานศิลป์ที่มีคุณค่ากลับมาเป็นสมบัติของชาติ.


ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ