นักล่าชั้นนำในยุคจูราสสิกและครีเตเชียสมักเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ และสัตว์กินเนื้อเหล่านี้เดินด้วย 2 ขา กรามอันทรงพลังของมันก็เรียงราย ไปด้วยฟันที่แหลมคม อย่างสายพันธุ์ที่รู้จักกันดีก็คือไทแรนโนซอรัส (Tyrannosaurus), สไปโนซอรัส (Spinosaurus) และคาร์ชา โรดอนโทซอรัส (Carcharodontosaurus)

เมื่อเร็วๆนี้ มีทีมนักบรรพชีวินวิทยากลุ่มหนึ่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลไดโนเสาร์พวกกินเนื้อชนิดใหม่ในยุคครีเตเชียส 2 สายพันธุ์ของไทแรนโนซอรัสจากที่เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์รอยัลไทร์เรลล์ ในแคนาดา และคาร์ชาโรดอนโทซอรัส จากพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาแห่งชาติอุซเบกิสถาน ซึ่งการค้นพบไดโนเสาร์ 2 สายพันธุ์ใหม่นี้แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ก็มีความคล้ายคลึงที่น่าสนใจ ฟอสซิลทั้งสองถูกพบในหินยุคครีเตเชียสในภูมิภาคของตนเอง หลังจากศึกษามาหลายเดือน นักบรรพชีวินวิทยาก็พบว่าฟอสซิลแต่ละชิ้นกลับกลายเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ทั้งหมด ทีมตั้งชื่อไทแรนโนซอรัสสายพันธุ์ใหม่ว่า Thanatotheristes degrootorum แปลว่า “ยมทูตแห่งความตาย” ชื่อนี้ได้แรงบันดาลใจจากบทบาทนักล่าในระบบนิเวศที่มีอายุ 80 ล้านปี และมาจากชื่อของผู้ค้นพบฟอสซิลคนแรกคือ จอห์น เดอกรูต (John DeGroot) เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ในรัฐอัลเบอร์ตา ของแคนาดา ขณะที่คาร์ชาโรดอนโทซอรัสสายพันธุ์ใหม่ได้รับการตั้งชื่อว่า Ulughbegsaurus uzbekistanensis ตามชื่ออูลัก เบค (Ulugh Beg) บุคคลในประวัติ ศาสตร์และนักดาราศาสตร์ในยุคแรกของอุซเบกิสถาน

ทั้งนี้ จากกรามของพวกมันชี้ว่าทั้ง 2 สายพันธุ์มีขนาดใกล้เคียงกัน ประเมินว่าจากปลายจมูกถึงปลายหาง ทั้งคู่น่าจะมีความยาวราว 8 เมตร เทียบเท่ากับความยาวของรถโรงเรียนโดยเฉลี่ย.