นอกจากอากาศร้อนๆ และเสื้อลายดอกในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ก็ยังมี "เพลงสงกรานต์" ที่กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ในวันสงกรานต์ 2565 เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนในช่วงนี้ ก็มักจะได้ยินเพลงที่เข้ากับบรรยากาศเทศกาลสงกรานต์เปิดอยู่ทั่วทุกแห่ง โดยเฉพาะเพลงสงกรานต์พื้นบ้านและสุนทราภรณ์ ที่ติดหูใครหลายคน จนสามารถร้องตามกันได้

บทความนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวม 10 เพลงฮิตช่วงเทศกาลสงกรานต์ ใครจะเลือกไปเปิดที่บ้านต้อนรับบรรยากาศวันปีใหม่ไทย หรือจะเลือกเป็นเพลงคาราโอเกะให้คนในครอบครัวร้องเพลินๆ ก็ได้เช่นกัน

10 เพลงเทศกาลสงกรานต์ รำวงพื้นบ้าน สุนทราภรณ์ เปิดทุกปี ฟังแล้วร้องตามได้ 

แม้ว่าเพลงสงกรานต์จะมีหลายเพลง แต่ส่วนใหญ่ที่นิยมเปิดมักจะเป็นเพลงแนวพื้นบ้าน หรือสุนทราภรณ์ มีทำนองสนุกสนาน หลายเพลงเคยใช้เป็นเพลงรำวงในอดีต สื่อถึงเทศกาลแห่งความสุขและการได้พบปะสังสรรค์ในวันปีใหม่ไทย สำหรับเพลงสงกรานต์ที่คุ้นหู ยกตัวอย่างต่อไปนี้

1. รำวงเริงสงกรานต์ - วงสุนทราภรณ์ 
เรียกได้ว่าเป็นเพลงที่คุ้นหูคนไทยมากที่สุดในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ของทุกปี กับเนื้อร้อง "ฟ้าใหม่แล้วละนะน้อง สงกรานต์เราร้อง ทำนองเพลงโทน โน่นไงจ๊ะ โทนป๊ะโทนๆ..." ที่มักเปิดทั้งในงานรื่นเริง ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ทั่วไป แค่ทำนองเพลงขึ้น เชื่อว่าหลายคนก็นึกถึงบรรยากาศของวันสงกรานต์แล้ว

2. รำวงวันสงกรานต์ - วงสุนทราภรณ์ 
"วันนี้เป็นวันสงกรานต์ หนุ่มสาวชาวบ้านเบิกบานจิตใจจริงเอย ตอนเช้าทำบุญ ทำบุญตักบาตร..." หากใครคุ้นเคยกับเนื้อร้องและทำนองของเพลงนี้ นี่คือเพลงรำวงสงกรานต์ที่ได้รับความนิยมมาทุกยุคสมัย นอกจากทำนองสนุกสนานแล้ว ยังมีเนื้อหาที่บอกถึงประเพณีไทยที่นิยมทำในวันสงกรานต์ เช่น ทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เล่นสาดน้ำ เป็นต้น

...

3. รำวงสุขสำราญ - วงสุนทราภรณ์ 
เพลงรำวงพื้นบ้านอีกเพลงของวงสุนทราภรณ์ที่นิยมเปิดในวันสงกรานต์ เนื้อหาจะเน้นที่กลุ่มคนหนุ่มสาวในสมัยก่อน ที่ออกมาพบปะและสนุกครื้นเครงในวันสงกรานต์ โดยมีการใช้คำว่า "แม่งามทรามเชย" เรียกผู้หญิง เพื่อให้มาร่วมรำวงในวันปีใหม่ไทย

4. ตลุงสุขสงกรานต์ - วงสุนทราภรณ์
เพลงสงกรานต์ของสุนทราภรณ์ที่เน้นการร้องคู่ของชายและหญิง มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชวนกันไปวัดเพื่อทำบุญตักบาตรตามวิถีพุทธ หากพิจารณาเนื้อหาเพลงจะเห็นได้ว่าสะท้อนความเชื่อและประเพณีของไทยในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ได้เป็นอย่างดี

5. รำวงปิดทองพระ - วงสุนทราภรณ์ 
เพลงสงกรานต์อีกเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยยุคสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี โดยนำเรื่องการปิดทองหลังองค์พระพุทธรูปมาใส่ไว้ในเนื้อเพลง ซึ่งมีความเชื่อว่าหากหนุ่มสาวคู่ใดได้ทำบุญและปิดทองพระร่วมกัน ก็จะมีบุญเกื้อหนุนให้ได้อยู่ร่วมกันและมีความสุขสวัสดี เพลงรำวงปิดทองพระถือเป็นอีกเพลงที่มักได้ยินในวันสงกรานต์ไทย

6. วิมานสงกรานต์ - วงสุนทราภรณ์
เพลงสงกรานต์ทำนองสนุก สะท้อนวิถีพื้นบ้านของคนไทยที่มักจะออกไปเที่ยวเล่นงานรื่นเริงเมื่อวันสงกรานต์มาถึง พูดถึงการแต่งตัวสดใสสวยงามเพื่อออกจากบ้านมาร่วมเล่นสงกรานต์ ไปไหว้พระทำบุญ ร้องเพลงชาวบ้าน (เพลงพื้นบ้าน) และยังเป็นโอกาสที่ดีที่คนหนุ่มสาวจะได้พบปะกันอีกด้วย

7. เพลงพิษฐาน
เพลงพิษฐาน คือ เพลงพื้นบ้านของคนไทยที่นิยมร้องเล่นกันในพื้นที่แถบภาคกลาง เช่น พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย สุพรรณบุรี ฯลฯ โดยจะเป็นเพลงร้องแก้ระหว่างหญิง-ชาย เป็นเพลงที่มีวรรคตอนคล้องจองกัน โดยคำว่าพิษฐาน ก็มาจากคำว่า "อธิษฐาน" เวลาที่กราบไหว้ขอพรพระนั่นเอง

8. เพลงอีแซว
หากพูดถึงเพลงพื้นบ้านวันสงกรานต์ไทยสมัยก่อน หลายคนต้องนึกถึง "เพลงอีแซว" ที่นำมาร้องละเล่นกันในงานบุญ และเทศกาลรื่นเริงต่างๆ โดยจะเป็นบทเพลงที่โต้ตอบกันไปมาของทั้งสองฝ่าย เน้นความสนุกสนาน บ้างก็มีเนื้อหาเกี้ยวพาราสีระหว่างคนหนุ่มสาว และหากให้มีความสนุกสนานเพิ่มขึ้น ก็ต้องด้นสด คิดเนื้อเพลงให้ทันโต้ตอบอีกฝ่ายทันที

...

9. เพลงระบำบ้านไร่
เพลงระบำบ้านไร่ที่นำมาร้องกันในวันสงกรานต์ งานบุญ และงานมงคลต่างๆ สะท้อนวิถีชีวิตเกษตรกรรมของคนไทยสมัยก่อน นิยมเล่นกันแพร่หลายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ฯลฯโดยจะมีการยืนล้อมวง พร้อมปรบมือให้เข้าจังหวะ มีลูกคู่ขานรับเนื้อเพลงเพื่อความสนุกสนาน

10. เพลงพวงมาลัย
งานเทศกาลรื่นเริง และงานมงคลต่างๆ เช่น งานวันสงกรานต์ งานบวชนาค งานแต่งงาน งานเทศน์มหาชาติ ฯลฯ ซึ่งเพลงจะมีการแบ่งจังหวะวรรคตอนรูปแบบต่างๆ อาจต้องมีการเอื้อนเสียงบ้าง เพื่อความไพเราะ มีแม่เพลง-พ่อเพลง ที่ผลัดกันขับร้องด้วยประโยคขึ้นต้น "เอ่อระเหย ลอยมา" และ "เอ่อระเหย ลอยไป"

เพลงสงกรานต์ที่ยกตัวอย่างมาทั้ง 10 เพลงนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว ยังมีเพลงสนุกๆ อีกหลายเพลงที่นิยมเปิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทย สามารถสะท้อนวิถีชีวิต ประเพณี และความเชื่อของคนไทยในอดีตได้ ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันที่ทำให้วันสงกรานต์ครึกครื้นและไม่เงียบเหงา แม้ว่าเราจะต้องฉลองเทศกาลนี้กันภายใต้มาตรการ New Normal ก็ตาม