เมืองเพชร” หรือจังหวัดเพชรบุรี มีหนึ่งในของดีขึ้นชื่อก็คือ “ตาลโตนด” ว่ากันง่ายๆก็คือ “ต้นตาล” นั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดกันเลยทีเดียว

“เมืองเพชร เมืองตาลโตนด”...ผู้คนที่เดินทางแวะเวียนผ่านไปจะเห็นเด่นเป็นสง่าท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจีนั้นมีต้นตาลขึ้นเรียงรายอยู่ดาษดื่นทั้งต้นเล็ก ต้นใหญ่...ราวกับเป็นป่าตาล

แน่นอนว่าคนพื้นที่ย่อมมีวิถีชีวิต ภูมิปัญญา นำผลผลิตจากต้นตาลมาบริโภค สร้างรายได้ กันอย่างมากมาย โดยเฉพาะ “น้ำตาลโตนด” ที่เป็นส่วนผสมสำคัญที่นำมาทำขนมหวานอันเลื่องชื่อ

ว่ากันว่าน้ำตาลโตนดแท้หากนำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน 1 เดือนขึ้นไปอาจจะเปลี่ยนสีได้เป็นสีแดงเข้ม และอาจมีการละลายอีกด้วย ผู้บริโภคอย่าได้กังวลว่าเสีย ยังสามารถนำไปประกอบอาหารได้เหมือนเดิมตามปกติ

ถ้าหากว่ากลัวละลายก็อาจจะเก็บแช่ไว้ในตู้เย็นก็ได้ จะคงรสชาติได้นานถึงเป็นปี

นับรวมไปถึงน้ำตาลสด น้ำตาลใส ผลสดๆ จากลูกตาลอ่อน กระแช่...น้ำตาลเมา น้ำตาลงุน...ที่ใช้ความชำนาญเฉพาะในการเคี่ยว เครื่องจักสาน อีกทั้งประเพณีวัฒนธรรมการเต้นรำทำตาล ฯลฯ

...

ตรงดิ่งไปเมืองเพชรมีโอกาสได้แวะเวียนไปอุดหนุนร้านขายผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดริมทาง ประหนึ่งว่าเหมือนมีแรง...พลังอะไรบางอย่างดลใจให้จอดที่ร้านนี้อย่างน่าแปลกใจ เพราะทั้งๆที่ผ่านๆมาก็มีร้านเรียงรายอยู่เต็มไปหมด ถัดออกไปอีกนิดก็มีอีกหลายๆร้านรอให้ลูกค้าขาจรอย่างเราๆท่านๆได้เลือกซื้อเลือกหา

อะไรดลใจให้เป็นเช่นนั้น? อาจเป็นเรื่องคิดไปเอง?

แต่ต้องมาสะดุดหยุดถามกับเจ้าของร้านก็ตรงที่เมื่อเหลือบไปเห็นวัตถุมงคลตั้งตระหง่านอยู่บนชั้นวางของที่มีขวดแก้วน้ำตาลโตนดสดเรียงรายละลานตาไปหมด

พลันที่ใจคิด ปากก็ขยับทันที...พี่บูชาอะไร?

“ชูชก...กับ...ปลัดขิกครับ” คือคำตอบที่ได้จากเจ้าของร้าน คนหนุ่มรูปงาม หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ตอบคำถามลูกค้าอย่างรวดเร็วฉับไว ด้วยระดับน้ำเสียงที่จริงใจเป็นอย่างยิ่ง

0 0 0 0 0

พุ่งเป้าไปที่ “ชูชก”...ที่บูชานี้ไม่รู้ที่มาที่ไปว่าวัดไหน สำนักไหน ราวๆกว่าสองปีผ่านมาแล้วมีลูกค้าคนหนึ่งที่มาซื้อน้ำตาลที่ร้านเช่าบูชามาให้เปล่าๆ วันนั้นให้กับภรรยาที่มาเปิดร้าน

เขาบอกว่าจะได้ช่วยทำมาค้าขาย

ผ่านมาก็นานแล้ว แต่ก็ยังจำได้ไม่เคยลืม ด้วยวันนั้นลูกค้าคนนี้เขาก็ซื้อของหมดไปประมาณ 1,500 บาท อุดหนุนเราว่ามากแล้ว ก็ยังมีน้ำจิตน้ำใจดีเหลือเกินเอาวัตถุมงคลมาฝากอีก

น่าสนใจว่ายุคโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่ว พ่อค้าแม่ขายไม่น้อยเลยที่ต้องเจอวิกฤติหนักราวกับมรสุมลูกใหญ่ หนักหน่วงถาโถมราวสึนามิถล่ม บางคนชักหน้าไม่ถึงหลังต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม

บางคนก็พอประทังเอาตัวรอดไปวันๆ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ...สำหรับร้านน้ำตาลโตนดร้านนี้กลับไม่เจอมรสุมที่ว่า...ยังขายดีขายได้เรื่อยๆ

“ชูชก” ที่ร้านบูชาอยู่ก่อนแล้วองค์หนึ่ง (องค์ที่เล็กกว่า) นั่นน่ะครับ แต่พอได้มาอีกองค์ (องค์ใหญ่กว่า)...หน้าตาแก่กว่าก็เอามาตั้งวางไว้คู่กันอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้แหละครับ

...

จะว่าไปแล้ว เมื่อนำมาตั้งคู่กัน ห่างกันราวๆไม้บรรทัด ตั้งจิตอธิษฐานบูชาทุกวัน ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่านะ แต่เหมือนจะเป็นพลังทวีคูณ ช่วยดึงดูด ดลใจลูกค้าให้เข้ามาอุดหนุนดีมากๆ

เคยตั้งห่างกันมากกว่านี้...ต้นกับปลายชั้นกลับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวมากน้อยอย่างไรไม่ทราบได้

ปัจจุบัน “เอฟ” อายุ 30 ปี ถือเป็นเจ้าของกิจการร่วมกับภรรยา ที่มีความเชื่อศรัทธา “ชูชก” เป็นอย่างมาก ด้วยจากประสบการณ์ที่พานพบกับตัว บวกกับสมัยรุ่นแม่ก็บูชาชูชกมาแล้ว ก็ยิ่งทำให้ศรัทธาเพิ่มทวี

เอาว่าร้านน้ำตาลโตนดเฉพาะ รุ่นลูกขายมานานเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ถ้าบวกกับรุ่นแม่ที่ขายมาก่อนหน้าก็นานโขเกิน 20 ปีแน่ๆ แม้ว่าจะขยับขยายย้ายที่มาแล้วก็ยังมีลูกค้าขาประจำขาจรอุดหนุนไม่ขาดสาย

แต่ละวัน ขายหมด ขายได้เรื่อยๆ ไม่เหงา ไม่เงียบ ไม่นั่งตบยุง

ใครอยากอุดหนุน พิสูจน์ศรัทธาชูชกดูดทรัพย์ ร้านน้ำตาลโตนดของเอฟ พิกัดอยู่ที่ ต.เวียงคอย อ.เมือง จ.เพชรบุรี

0 0 0 0 0

...

ว่าด้วยเรื่อง “ของดี ของขลัง” ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไม่ดี...ขอให้ค้าๆขายๆคล่องๆ...ลูกค้าวิ่งเข้าใส่ตำรา “อาณาจักรเครื่องรางของขลัง” เขียนโดยรองศาสตราจารย์นิพัทธ์ จิตรประสงค์... หน้า 284 กล่าวถึง “ปลัดขิก” ไว้ว่า...เหตุที่สร้างอย่างเครื่องเพศชายสืบเนื่องมาจากลัทธิบูชาศิวลึงค์ในศาสนาพราหมณ์

และท่านโบราณาจารย์นำเอาหัวใจโจรและหัวใจพุทธมนต์บางอย่างลงไป...ปลัดขิกมีการสร้างกันหลายอาจารย์ แต่ละท่านก็มีข้อพิจารณาที่แตกต่างกันออกไป

อาทิ แขวนเอวเป็นเมตตามหาเสน่ห์กันภัย โชคลาภ...

บูชาพกติดตัวแคล้วคลาด ค้าขายดี...เป็นเมตตามหานิยม อุดมลาภ เดินทางปลอดภัย แคล้วคลาด ป้องกันภูตผี...แคล้วคลาดศัตรู บูชาใส่พานหน้าร้านค้า ค้าขายคล่อง...เป็นเมตตามหาเสน่ห์ค้าขายดี...ใช้เป็นเมตตา ค้าขาย แคล้วคลาดดุจพญาวานร

ส่วนนิทานชาดกเรื่องพระเวสสันดรนั้น “ชูชก” สามารถขอกัณหา ชาลีจากพระบิดาได้สำเร็จ ถือเป็นการขอที่ยิ่งใหญ่ โบราณาจารย์จึงจำลองรูปชูชกมาเป็นเครื่องรางของขลัง

...ไปขออะไรจากใครให้พกชูชกติดตัวไปด้วย เชื่อศรัทธากันว่า...จะขอได้ดังใจปรารถนา

ภาวนาคาถาบูชาชูชก...“โอมนะโม โพธิสัตโต กัณหาชาลีกุมาโร โอมมัทธิราช กุมารโร ชะหังหังเมสัตตะ สวาโหม” แล้วเสกสำทับด้วยคาถา...“โอมสิทธิ สิทธิชูชะโก สวาหะ”

“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”.

รัก-ยม

...