"โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี" ประธานาธิบดีของยูเครน สร้างเสียงฮือฮาด้วยการปรากฏตัวผ่านคลิปวิดีโอ กล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนสันติภาพ ในงานประกาศผลรางวัลทางดนตรี Grammy Awards 2022 พร้อมเรียกร้องให้ศิลปินใช้ดนตรีและโซเชียลมีเดียเป็นกระบอกเสียงบอกเล่าความโหดร้ายของสงคราม

เปิดสุนทรพจน์ของ "เซเลนสกี" ประธานาธิบดียูเครน บนเวทีงาน Grammy Awards 2022

งานประกาศผลรางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส์ ประจำปี 2022 (Grammy Awards 2022) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 64 ณ นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีศิลปินและคนในวงการเพลงจำนวนมากเข้าร่วมงาน โดยงานนี้ถือเป็นการประกาศผลรางวัลทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก

ในระหว่างนั้นมีการเปิดคลิปวิดีโอของ "โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี" ประธานาธิบดียูเครน ซึ่งได้บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ โดยได้ออกมากล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนสันติภาพให้แก่ยูเครน ต่อกรณีสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 เดือน ทำให้ประชาชนหลายล้านคนกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัยสงคราม และอีกจำนวนมากต้องเสียชีวิตลง

ประธานาธิบดีเซเลนสกี กล่าวว่า "อะไรคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับดนตรี? ความเงียบสงัดของเมืองที่ถูกทำลาย และประชาชนที่ถูกเข่นฆ่า เด็กๆ ชาวยูเครนวาดรูปขีปนาวุธ แทนที่จะวาดรูปดาวตก มีเด็กได้รับบาดเจ็บกว่า 400 คน เสียชีวิตอีก 153 คน เราไม่ได้เห็นพวกเขาวาดรูปอีกเลย ส่วนพ่อแม่ก็ขอแค่ตื่นขึ้นมาแล้วยังมีชีวิตอยู่ในหลุมหลบภัย โดยที่ไม่รู้ว่าจะได้กลับไปอยู่กับคนที่รักได้อีกเมื่อไหร่

"สงครามไม่อนุญาตให้เราเลือกว่าใครจะเป็นผู้รอดชีวิต หรือผู้ที่ต้องอยู่ในความเงียบชั่วนิรันดร์ นักดนตรีของเราสวมชุดเกราะแทนทักซิโด พวกเขาขับขานเสียงเพลงให้ผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาล แม้แต่กับคนที่ไม่ได้ยิน เสียงดนตรีก็จะก้องกังวานอยู่ดี เราปกป้องเสรีภาพเพื่อชีวิต เพื่อรัก และเพื่อการได้ยินเสียงเพลงบนมาตุภูมิของเรา

...

"เรากำลังต่อสู้กับรัสเซีย ที่สร้างความเงียบอันน่าสะพรึงกลัวด้วยเสียงระเบิด จงเติมเต็มความเงียบด้วยบทเพลงของคุณ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของยูเครน บอกเล่าความจริงเกี่ยวกับสงครามนี้ ทางแพลตฟอร์มโซเชียล ทางทีวี สนับสนุนยูเครนในทุกวิถีทาง หรือจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ความเงียบ

"เมื่อความสันติภาพมาเยือนในทุกๆ เมืองที่เคยถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็น Chernihiv, Kharkiv, Volnovakha, Mariupol และเมืองอื่นๆ ที่ได้กลายเป็นตำนาน แต่ผมยังมีความฝันว่าพวกเขาจะได้ใช้ชีวิตและมีอิสระ... อิสระเหมือนกับพวกคุณบนเวทีแกรมมี่แห่งนี้"

หลังจากจบการกล่าวสุนทรพจน์ก็มีเสียงปรบมือกึกก้องจากผู้ร่วมงาน พร้อมกับเริ่มแสดงเพลง "Free" ของศิลปิน John Legend ซึ่งเป็นการร่วมแสดงกับศิลปินชาวยูเครน Mika Newton และนักกวี Lyuba Yakimchuk โดยบทเพลงนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเสรีภาพและความสงบสุข

อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนในวงการเพลงใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการต่อต้านสงคราม โดยก่อนหน้านี้มีศิลปินหลายคนที่ออกมาสนับสนุนยูเครน เช่น Green Day, My Chemical Romance, Björk, The Killers, AJR, Iggy Pop, Pink Floyd, David Gilmour ฯลฯ ซึ่งได้ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเองในการประณามรัสเซีย อีกทั้งยังช่วยกันทำแคมเปญบริจาคเงินช่วยเหลือด้านการแพทย์เพื่อสนับสนุนผู้ประสบภัยสงครามในยูเครนอีกด้วย.

อ้างอิงข้อมูล : www.nytimes.com