เป็นที่น่าตกใจและเสียใจอย่างยิ่งที่หลายคนจากไปเพราะ “ใหลตาย” ที่มีคำเรียกเช่นนี้ เพราะเกิดขึ้นขณะนอนหลับแล้วเสียชีวิตหรือหลับแล้วไม่ตื่น โดยไม่มีสัญญาณอะไรบ่งบอกมาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นได้กับหลายคน โดยเฉพาะเพศชายที่อายุ 25 ปีขึ้นไป แม้จะมีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตาม อย่างกรณีล่าสุดที่คาดว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นักแสดงวัยรุ่น บีม ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ เสียชีวิต

สาเหตุและอาการโรคใหลตาย
โรคใหลตาย เป็นการเสียชีวิตที่เกิดจากความผิดปกติของการเต้นหัวใจ จนทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ โดยเฉพาะสมองได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจนอาจแสดงอาการชักเกร็ง หายใจมีเสียงครืดคราดผิดปกติคล้ายนอนละเมอ เรียกไม่รู้ตัว

ความผิดปกติมักพบขณะหลับ และอาจเกิดในผู้ชายที่ปกติแข็งแรง ที่ปกติก่อนเข้านอนก็ดูปกติดี แต่พบว่าเสียชีวิตในตอนเช้ารุ่งขึ้น จึงเป็นภาวะเสียชีวิตกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน หรือ Sudden unexpected death syndrome (SUDS) นอกจากเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะดังกล่าว ยังอาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันได้อีกด้วย

นอกจากพบการใหลตายขณะที่หลับ อาจพบได้ในขณะตื่น โดยมีอาการใจสั่นช่วงสั้นๆ หรืออาการวูบเป็นลมหมดสติ
 

กลุ่มเสี่ยงเป็นใหลตาย หลับแล้วไม่ตื่น
ผู้เสียชีวิตจากโรคใหลตาย ส่วนใหญ่พบในผู้ชายเฉลี่ยอายุ 25-55 ปี แต่ก็พบได้บ้างในผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ พื้นที่พบมากในประเทศไทย คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ 
 
กลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่มีญาติสายตรงเสียชีวิตที่มีลักษณะอาการใหลตาย เพราะอาการใหลตายมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติยีนหรือพันธุกรรม ที่มีผลต่อการควบคุมประจุไฟฟ้าในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ

...

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่เกิดจากการขาดสารอาหารกลุ่มวิตามินบี 1 อย่างเฉียบพลัน ร่างกายสะสมสารพิษจากการกินอาหารที่มีสารพิษ จนมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และร่างการขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง

การสังเกตอาการ กรณีเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 อย่างเฉียบพลัน คือจากที่ปกติแข็งแรง จะรู้สึกอ่อนเพลีย และอยากนอน ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนจะมีคนที่ไปทำงานต่างประเทศบางคนที่เสียชีวิตเพราะใหลตาย และจากการสอบถามสาเหตุเพราะขาดสารอาหาร เนื่องจากดำรงชีวิตอย่างประหยัดจนขาดสารอาหารดังกล่าว

การรักษา การป้องกันหลับแล้วไม่ตื่น
การใหลตายยังไม่มีการรักษาโดยตรง แต่มีวิธีทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยครั้งที่สุด และระยะเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแต่ละครั้งสั้นที่สุดก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดสติหรือเสียชีวิต แต่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะตึงเครียดของร่างกาย เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหรือทำงานหนัก การรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลปริมาณมากเกินไป และให้ดื่มน้ำก่อนนอน

ขณะเดียวกันมีคำแนะนำว่า คนที่เคยรอดชีวิตจากใหลตาย ควรใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator หรือ AICD) รวมถึงคนที่เคยตรวจพบหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ไม่เป็นจังหวะ และมีประวัติครอบครัวเสียชีวิตจากใหลตาย


อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)