ในปี 2481 นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาราจักรแคระหรือกาแล็กซีแคระฟอร์แน็กซ์ (Fornax galaxy) ซึ่งมีลักษณะเป็นทรงกลมออกรีๆ ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวเตาหลอม แถมกาแล็กซีแคระแห่งนี้ยังสว่างที่สุดเป็นอันดับ 2 ในฮาโล (halo) ที่เป็นบริเวณรอบๆส่วนโป่งของกาแล็กซีทางช้างเผือก นับเป็นพื้นที่ที่มีดาวฤกษ์รวมตัวเป็นกลุ่มหรือเป็นกระจุก โดยกาแล็กซีแคระฟอร์แน็กซ์อยู่ห่างจากโลกประมาณ 460,000 ปีแสง ประกอบด้วยกระจุกดาวทรงกลม 6 แห่ง
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักดาราศาสตร์ที่นำโดยนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวปารีส ในฝรั่งเศส ได้ตรวจสอบ โครงสร้างดวงดาวในกาแล็กซีแคระฟอร์แน็กซ์ โดยอาศัยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอา ขององค์การอวกาศยุโรป จริงๆแล้วมีจุดประสงค์หลักของการศึกษาคือต้องการสำรวจขอบเขตของประชากรดาวฤกษ์ประเภทดาวยักษ์แดง (red giant branch-RGB) ในกาแล็กซีแคระแห่งนี้ ทว่าทีมได้ค้นพบว่ากาแล็กซีแคระฟอร์แน็กซ์มีฮาโลของดาวฤกษ์ หรือกลดดาวที่ขยายออกไปถึง 17,600 ปีแสง และยังอาจขยายออกไปได้อีกไกล
นักดาราศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า การค้นพบนี้อาจมีนัยสำหรับความเข้าใจของชุมชนดาราศาสตร์เกี่ยวกับกาแล็กซีแคระอื่นๆของทางช้างเผือกได้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา.
Credit : ESO/Digitized Sky Survey 2