“พินัยกรรมชีวิต... Living Will...สิทธิการตาย” ไม่ว่าเราจะเรียกคำสั่งเสียสุดท้ายก่อนตายว่าอะไร แต่นัยและความหมายของ “สิ่งนี้” ก็คือการเตรียมชีวิตให้พร้อมก่อนที่จะจากโลกนี้ไป

คลิปวิดีโอของคุณพิชัย รัตตกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายทางสื่อออนไลน์ เป็นการสั่งความครั้งสุดท้ายก่อนตาย ทั้งเรื่องเครื่องแต่งกายตอนเสียชีวิต ที่ท่านอยากใส่กางเกงแพร เสื้อผ้าป่าน ให้เหมือนการนอนหลับครั้งสุดท้าย ในโลงขอให้มีหมอน ไม่ต้องแต่งชุดขาวอะไรให้ยุ่งยาก นอนไปแบบคนธรรมดาๆ กลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน

คลิปสั่งเสียของคุณพิชัยดูเผินๆอาจจะธรรมดา แต่ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้ง นี่คือการใช้ “สิทธิ” และ “โอกาส” ในการวางแผนจัดการกับร่างกายของตนหลังการตาย (Total life Planning Resource Centre, 2001) เพื่อเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการมากที่สุด

คลิปของคุณพิชัยทำให้นึกไปถึงเรื่องของ Living Will หรือ “พินัยกรรมชีวิต” ที่มีความพยายามผลักดันมานานมากกว่า 30 ปี กระทั่งสุดท้ายได้มีการบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ระบุให้ “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะขอรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้”

...

ความเจริญของเทคโนโลยีทางการแพทย์ และทัศนะของแพทย์สมัยใหม่มองว่า “ความตาย” สามารถจัดการและควบคุมได้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อยืดอายุของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่ง คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เคยบอกไว้ว่า ด้วยความคิดดังกล่าว ทำให้คนเกิดภาวะของการ “ลืมตาย” จึงพยายามใช้วิธีการต่างๆนานาเพื่อเอาชนะและยืดชีวิตของผู้ป่วยออกไปให้นานที่สุด ลูก หลาน ญาติมิตรที่ต้องการให้ผู้เป็นที่รักอยู่นานที่สุด ก็มักจะขอให้แพทย์ให้การรักษาผู้ป่วยจนถึงที่สุด โดยลืมนึกถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ความทุกข์ทรมานจากการรักษาที่ต้องใช้เครื่องมือมากมายในการทำหน้าที่ทดแทนการทำงานของอวัยวะ ไม่รวมสายระโยงระยาง เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ติดตามตัวเต็มไปหมด เป้าหมายเพียงเพื่อยืดชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลงแล้วยังมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์จำนวนมหาศาลที่ต้องจ่ายไปในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

แม้จะมีความพยายามในการผลักดันประเด็น Living Will ให้เป็นสิ่งที่คนไทยควรตระหนักและเข้าถึง แต่ในความเป็นจริง คือมีคนไทยไม่เกิน 5 % ที่เข้าใจในเรื่องนี้ และยินดีที่จะทำ “พินัยกรรมชีวิต” แสดงเจตจำนงครั้งสุดท้ายของตนเองไว้ล่วงหน้า แม้จะมีตัวอย่างที่เป็นโมเดลของการจัดการชีวิตก่อนตายและหลังตาย อย่าง ปัจฉิมอาพาธ พุทธทาสมหาเถระ โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความตายว่า “การตายเป็นหน้าที่ของสังขารอย่างไม่มีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไข นอกจากการต้อนรับให้ถูกวิธี”

การต้อนรับอย่างถูกวิธีของท่านพุทธทาสคือ ท่านได้ทำพินัยกรรมเรื่องการจัดงานศพของท่านไว้ชัดเจน โดยระบุว่า ไม่ให้ฉีดยาศพ ไม่ให้จัดงานพิธีใดๆ ให้เผาศพโดยวิธีเรียบง่ายที่สุด และนำอัฐิไปเก็บไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปในศาลาธรรมโฆษณ์ พร้อมกับให้เทปูนซีเมนต์โบกทับ ส่วนอังคารให้แบ่งเป็น 3 ส่วน นำไปลอยที่ช่องหมู่เกาะอ่างทอง ที่เขาประสงค์ และที่ต้นน้ำตาปีที่เขาสก โดยก่อนหน้าที่ท่านจะอาพาธจนไม่สามารถสื่อสารได้นั้น ท่านได้ปรารภกับแพทย์ที่ทำการรักษาว่า “หากเจาะคอแล้วท่านกลับมาเทศน์ได้ก็ให้เจาะ แต่ถ้าเจาะเพียงเพื่อยืดชีวิตก็ไม่ควรทำ” ท่านทิ้งท้ายว่า “อย่าหอบสังขารหนีความตาย”

ล่าสุดการจากไปของท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ที่ศิษย์ผู้ใกล้ชิดต่างทราบกันดีว่า ท่านขอร้องให้นำท่านกลับจาก รพ.มายังอาคารธรรมาศรม อาคารที่จัดสร้างขึ้นสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อการดูแลแบบประคับประคอง หรือ palliative care ก่อนจากไปอย่างสงบ

คำถามสำหรับเราๆท่านๆในวันนี้คือ ถึงเวลาหรือยังที่ทุกคนควรหันมาให้ความสำคัญกับ “คำสั่งเสียล่วงหน้า” (advance directive) ที่เราสามารถกำหนดชีวิตเราเองได้ว่าเราจะจากไปแบบไหน แบบสบายๆตามธรรมชาติ หรือจากไปท่ามกลางสายระโยงระยาง เครื่องมืออุปกรณ์รอบตัว และไม่เหลือเงินไว้สำหรับลูกหลานในอนาคตหรือเพียงแค่คืนสู่ธรรมชาติแบบไม่ฝืนไว้ ทิ้งไว้เพียงร่องรอยของคุณงามความดี และภาพความทรงจำที่งดงามเท่านั้น.

...