หลายคนอาจเคยเจอหรือมีประสบการณ์ “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” หรือ Frenemy กันมาบ้างแล้ว โดยมาจากคำว่า Friend ที่แปลว่าเพื่อน มาผสมกับคำว่า Enemy ที่แปลว่าศัตรู จึงกลายเป็นเพื่อนรักเพื่อนร้ายที่อยู่ข้างกายแบบไม่รู้ตัว หากเทียบเป็นสุภาษิตคำพังเพยไทยๆ ที่เราคุ้นเคย ก็คงเทียบได้กับคำว่า เพื่อนเราเผาเรือน, เกลือเป็นหนอน, คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ ซึ่งฟังแล้วเห็นภาพและเข้าใจได้ชัดเจนว่าเพื่อนรักในร่างงูพิษมีลักษณะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม คำว่า Frenemy ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือประสบการณ์ใหม่แต่อย่างใด เพราะการจะคบเพื่อนสักคนแค่เวลาอย่างเดียวอาจไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ความจริงใจเสมอไป ยังมีอีกหลายๆ ปัจจัยที่เป็นเครื่องวัดความจริงใจของเพื่อนได้ว่าคนนี้คือเพื่อนแท้หรืองูพิษ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร หรือมีวิธีการเลือกคบเพื่อนอย่างไรให้ไม่เจ็บใจภายหลัง สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้

1. ไม่พอใจที่เราประสบความสำเร็จ

อาการที่แสดงออกได้ชัดเจนที่สุดสำหรับเพื่อนที่เป็น Frenemy คือมักจะออกอาการไม่พอใจเวลาที่เราได้ดีหรือประสบความสำเร็จในเรื่องใดๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คืออิจฉานั่นเอง มักจะแสดงออกด้วยการพูดจาให้เรารู้สึกแย่ เช่น ถ้าเราได้รางวัลหรือมีผลงานดี Frenemy มักจะพูดทีเล่นทีจริงว่าได้ดีเพราะโชคช่วยไม่ใช่เพราะความสามารถ หรือไม่เคยแสดงความยินดีที่เราประสบความสำเร็จ

2. พูดแต่เรื่องของตัวเอง

คนที่เป็น Frenemy มักจะพูดแต่เรื่องของตัวเองฝ่ายเดียวโดยไม่คิดจะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของเพื่อน เมื่อพูดเรื่องของตัวเองจบก็จะจากไปโดยไม่สนใจว่าฝ่ายหนึ่งจะรู้สึกอย่างไร

3. เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

...

เพื่อนประเภทนี้มักเอาความคิดของตนเองเป็นที่ตั้งว่าเป็นฝ่ายถูกเสมอแล้วอยากให้ทุกคนทำตาม มักตัดสินอีกฝ่ายตามความรู้สึกของตนเองฝ่ายเดียวโดยไม่สนใจเหตุผลของเพื่อน ทั้งที่ความจริงแล้วชีวิตของแต่ละคนย่อมมีเงื่อนไขที่ต่างกันไป การจะให้ทุกคนเดินตามความคิดของใครจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

4. ชอบพูดจาประชดเหน็บแนม

อาจจะฟังดูเหมือนนางร้ายในละคร แต่ชีวิตจริงเพื่อนแบบ Frenemy ก็มีอาการไม่ต่างกัน มักจะมาในรูปแบบประชดหรือเหน็บแนมแบบเนียนๆ ให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง เช่น เอาเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นให้รู้สึกแย่ หรือชอบพูดแซะให้เราอายแล้วตบท้ายด้วยคำว่า “แซวเล่นขำๆ อย่าคิดมาก”

5. นินทาลับหลัง

ปกติแล้วเพื่อนที่จริงใจเวลาไม่พอใจหรืออยากเตือนอะไรมักจะพูดกันตรงๆ แต่สำหรับ Frenemy จะทำตรงกันข้าม เพราะการนินทาลับหลังเอาเราไปเม้าท์กับคนอื่นเป็นเรื่องสนุกกว่า เผลอๆ อาจมีกรุ๊ปไลน์ลับที่ไม่มีเราในนั้นไว้เพื่อนินทาเราโดยเฉพาะ

6. ให้คำแนะนำแย่ๆ

หากเราต้องการปรึกษาเรื่องสำคัญใดๆ เพื่อนที่ดีจะให้คำแนะนำที่สร้างสรรค์ ส่วนเพื่อน Frenemy มักจะให้คำแนะนำที่ฟังแล้วรู้สึก “แบบนี้ก็ได้เหรอ?” เป็นคำแนะนำที่ไม่สร้างสรรค์เท่าไหร่ เช่น ถ้าเรามีปัญหากับเพื่อนอีกคน เพื่อนที่ดีจะให้คำแนะนำว่าควรเปิดใจพูดคุยกันตรงๆ ส่วนเพื่อน Frenemy จะแนะนำว่าให้ใช้กำลัง หรือเอาคืนด้วยวิธีแรงๆ

วิธีรับมือกับเพื่อน Frenemy

อาการของเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดแบบ Frenemy ที่กล่าวไป หลายคนอาจเคยเจอมาบ้างแล้ว หรือบางคนอาจจะเพิ่งสังเกตได้ว่าเพื่อนใกล้ตัวเป็นคนแบบนี้ วิธีการเลือกคบเพื่อนและรับมือกับเพื่อนแบบนี้ได้ดีที่สุดก็แค่ลดระดับความสนิท หรือถ้าอาการหนักเกินเยียวยาก็เลิกคบไปเลย เพราะความสัมพันธ์ที่ Toxic แบบนี้ยิ่งรั้งไว้ก็มีแต่จะทำให้เสียความรู้สึก แม้ว่าจะเสียดายวันเวลาที่คบกันมานานแต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความไม่จริงใจ ก็คิดเสียว่าเป็นการได้เรียนรู้นิสัยคนคนหนึ่งมากขึ้น เพราะในชีวิตจริงแล้วนั้นการมีเพื่อนเยอะไม่สำคัญเท่าการมีเพื่อนเพียงไม่กี่คน แต่มีความจริงใจให้กันไม่คิดหักหลังมากกว่า