สร้างชื่อเสียงลือลั่นวงการธุรกิจมานาน สำหรับ “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” จนได้รับฉายา “Super G” เพราะไม่เพียงจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นเอ็มดีที่เด็กที่สุดของไอบีเอ็ม และผู้หญิงไทยคนแรกที่สามารถขึ้นไปกำหนดนโยบายในบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก เธอยังได้รับการจดจำในฐานะนักแก้ปัญหามือทอง ที่โชว์ฝีมือพลิกฟื้น “ไทยคม” จากตัวเลขติดลบขาดทุนมหาศาลต่อเนื่องหลายปีให้กลับมาทำกำไรเป็นครั้งแรกทันทีที่เข้ารับตำแหน่งซีอีโอไม่กี่เดือน และปลุกปั้นจนกลายเป็นบริษัทธุรกิจดาวเทียมที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมีรางวัลผู้บริหารดาวเทียมยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย-แปซิฟิก เป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือ

หลังผ่านด่านมหาหินใน 2 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เมื่อปี 2559 “คุณแต๋ม-ศุภจี” ได้โจทย์ใหม่ท้าทายอีกครั้ง เมื่อต้องรับภารกิจใหญ่เป็นซีอีโอนำทัพสร้างแบรนด์โรงแรมในตำนานของไทยอย่าง “ดุสิตธานี” ให้โลดแล่นบนเวทีโลก ในฐานะแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศไทย ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์และคุณค่าอันประเมินค่าไม่ได้

...

“ดุสิตธานีก่อตั้งมา 70 ปีแล้ว โดย “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” สุภาพสตรีที่มีนโยบายและวิสัยทัศน์น่าทึ่งมากๆ จากคำบอกเล่าของ “คุณชนินทธ์ โทณวณิก” ท่านผู้หญิงสร้างโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เพราะเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในเวทีระดับโลก ซึ่งท่านผู้หญิงคิดว่าการสนับสนุนที่ดีที่สุดคือการสร้างโรงแรมที่โดดเด่นและดีที่สุดตามมาตรฐานสากล โดยยึดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทยเป็นหลัก เพื่อให้กรุงเทพมหานครปรากฏอยู่บนแผนที่ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยเหตุนี้โรงแรมดุสิตธานีจึงเริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 2509 แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ในบริเวณถนนสีลมมีความเจริญมากขึ้น เราจึงต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่ ต้องยอมรับว่าโรงแรมดุสิตธานีเป็นโรงแรมเก่า แบบการก่อสร้างเป็นแบบเก่า ซึ่งยากแก่การปรับปรุง ขณะเดียวกันความต้องการของลูกค้าปัจจุบันกับอดีตมีความแตกต่างกัน ขนาดห้องของเราสู้โรงแรมอื่นไม่ได้ เพราะห้องของเราเล็ก ห้องพักขนาด 32 ตร.ม. ในอดีตถือว่าใหญ่แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่พอ จึงถึงเวลาต้องสร้างโรงแรมดุสิตธานีโฉมใหม่ เพื่อให้เป็นโรงแรมที่สามารถแข่งขันกับโรงแรมระดับโลกได้ แต่ต้องเป็นของคนไทย โรงแรมชื่อไทย และเป็นที่หนึ่งสู้กับโรงแรมระดับโลกให้ได้”...คุณแต๋มบอกเล่าถึงโจทย์ท้าทายใหญ่ที่ได้รับมา

ได้เข้ามาบริหาร “บมจ.ดุสิตธานี” จริงๆแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

โดยส่วนตัวอยากทำอะไรที่มีความหมาย มีผลกระทบทางบวกกับคนที่อยู่รอบข้าง เรารู้ว่าสิ่งหนึ่งที่มีแน่ๆคือตรรกะและความเป็นระบบระเบียบที่ติดตัวมาตั้งแต่ทำงานในองค์กรที่มีความเป็นสากล แต่โจทย์ที่ได้รับมาคือการเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างของธุรกิจ เปลี่ยนความเชื่อของคนและวัฒนธรรมองค์กรที่เคยมีอยู่ ซึ่งไม่ใช่งานที่ง่าย เพราะธุรกิจบริการ เรื่องคนเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนองค์กร มากกว่าธุรกิจอื่นๆที่เคยทำมา แต่เราเห็นศักยภาพ เห็นคุณค่าของดุสิตธานีในมุมที่เป็นตัวแทนของประเทศ ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์และคุณค่าที่ประมาณค่าไม่ได้

...

ภายใต้การนำของ “ศุภจี” ดุสิตธานีจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปขนาดไหน

“ดุสิตธานี” จะไม่ได้เป็นแค่โรงแรม แต่เป็น “บมจ.ดุสิตธานี” ที่ขยายความเสี่ยงไปยัง 5 กลุ่มธุรกิจ คือธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต, การศึกษา, ธุรกิจอาหาร, ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการต้อนรับ โดยทำแผนไว้ 9 ปี แบ่งเป็น 3 ช่วงคือ 1) ช่วงสร้างฐาน 2) ช่วงเทกออฟ และ 3) ช่วงโมเดลเปลี่ยนเรียบร้อย ทุกคนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

วิกฤติโควิด-19 ทำให้แผนสะดุดไปเยอะไหม

เราเจอโควิดในช่วงที่กำลังจะเทกออฟ ทำให้แผนงานทุกอย่างต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่หมด ตอนแรกคิดว่าคงเหมือนปี 2008 ที่เกิดโรคซาร์สในเอเชีย ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ธุรกิจก็กลับมาเป็นปกติ แต่สถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อกว่าที่คิด เรากำหนดแผนสำรองเอบีซีไว้ ถือว่าการเปิดโครงการล่าช้ากว่าที่กำหนดเพียงเล็กน้อย ด้วยความที่เรามีนโยบายไม่ทิ้งพนักงาน ตั้งแต่ตอนเข้ามารับตำแหน่งจึงพยายามหาบ้านใหม่ให้พนักงานดุสิตธานีทำ โดยรวมร้านอาหารของเราทั้งหมดไปอยู่ที่บ้านดุสิตธานี พร้อมกับการเปิดโรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ กรุงเทพ เพื่อรองรับพนักงานของโรงแรม แต่ระหว่างที่เกิดวิกฤติโควิด เมื่อนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนมาซัพพอร์ตพนักงาน การปรับโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ทุกทางจึงเกิดขึ้น ความยากอยู่ที่จะทำอย่างไรจึงสามารถจูงใจและกระตุ้นพนักงานให้เข้าใจถึงสถานการณ์ และร่วมมือที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน

...

หลายคนถามว่าสร้างภาพไหม เป็นถึงซีอีโอต้องมายืนเจียวไข่ขายข้าวกล่อง

การที่เราจะจูงใจพนักงานได้ดีที่สุด เราต้องอยู่กับเขาตรงนั้นและอยู่ในสภาพเดียวกับเขา ที่จริงไม่จำเป็นต้องลงไปเจียวไข่ขายก๋วยเตี๋ยวก็ได้ เพราะคงไม่ได้ช่วยให้ขายของได้มากขึ้น แต่เป็นการช่วยทุกคนให้ใจชื้นขึ้น อย่างน้อยก็มีเราอยู่ข้างๆ

ปัจจุบันแผน 9 ปี ของ “บมจ.ดุสิตธานี” เดินหน้าไปถึงไหนแล้ว

พร้อมแล้วที่จะเปิดตัวโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูสร่วมทุนระหว่าง บมจ.ดุสิตธานี และ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา มูลค่ารวม 46,000 ล้านบาท พัฒนาโครงการบนพื้นที่ 23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลม ตรงข้ามสวนลุมพินี ในโครงการประกอบด้วย โรงแรม, อาคารที่พักอาศัย, อาคารสำนักงานและศูนย์การค้า โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ “รูฟพาร์ค” สวนสาธารณะบนชั้นดาดฟ้าเป็นพื้นที่สีเขียวพิเศษขนาดใหญ่ 7 ไร่ ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดย “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มีกำหนดเปิดเฟสแรกในปี 2567 เริ่มจาก “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ” ต่อด้วยศูนย์การค้าเซ็นทรัลพาร์ค และอาคารสำนักงานเซ็นทรัล พาร์คออฟฟิศเซส ตามมาด้วยโซนอาคารที่พักอาศัยระดับอัลตราลักชัวรี “ดุสิต เรสซิเดนเซส” และ “ดุสิต พาร์คไซด์” ในช่วงกลางปี 2568 เป็นเฟสสุดท้าย

...

หลังเปิดให้ชมห้องตัวอย่าง “ดุสิต เรสซิเดนเซส” และ “ดุสิต พาร์คไซด์” ผลตอบรับเป็นอย่างไร

ขายไปได้แล้ว 140 ยูนิต จาก 406 ยูนิต คิดเป็น 40% ของโครงการ เรามีความภูมิใจและใส่ใจในทุกรายละเอียดของ “ดุสิต เรสซิเดนเซส” และ “ดุสิต พาร์คไซด์” ตั้งแต่งานสถาปัตยกรรมไปจนถึงงานออกแบบตกแต่งภายในทั้งหมด งานดีไซน์สะท้อนคุณค่าดั้งเดิมของดุสิตธานี และผสานเข้ากับการออกแบบในสไตล์ร่วมสมัย เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้สัมผัสความรู้สึกถึงบ้านที่มีความเป็นส่วนตัวสูงสุด ภายใต้รูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารทันสมัยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีสองแบรนด์ที่พักอาศัยอยู่ในอาคารเดียวกัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่แตกต่าง ออกแบบโดยบริษัท ดราก้อน จำกัด เป็นความร่วมมือระหว่าง “OMA Asia Hong Kong” และ “A49” แม้จะเป็นอาคารสูง 69 ชั้น ใจกลางเมือง แต่ก็ถูกออกแบบให้มีความเป็นสัดส่วนชัดเจน ผู้อยู่อาศัยจะสัมผัสได้ถึงความเป็นส่วนตัว แฝงด้วยแนวคิด “well-being” สร้างสมดุลทั้งกายและใจ อีกสิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญคือ ปรัชญาการให้บริการที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ “ดุสิตธานี” ที่เราทุกคนยึดมั่น ทั้งการดูแลด้วยความอบอุ่น และให้บริการด้วยความใส่ใจ ทั้งหมดนี้จะถูกนำเสนอผ่านความเป็น “Branded Residences” สัญชาติไทยที่เราภูมิใจ

“ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” จะเปลี่ยนแลนด์สเคปและสร้างอิมแพกต์ใหม่ขนาดไหน

“รูฟพาร์ค” ถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” เราตั้งใจให้รูฟพาร์คเป็นพื้นที่สีเขียวที่เชื่อมโยงทุกอาคารในโครงการฯเข้าด้วยกัน โดยออกแบบรูฟพาร์คให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย, วิ่ง, ขี่จักรยาน หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น งานอดิเรก, แสดงงานศิลปะ และดนตรี นอกจากนี้ รูฟพาร์คยังถูกออกแบบให้มีภูมิทัศน์ที่เชื่อมต่อกับวิวของสวนลุมพินี เมื่อมองมาจากโครงการฯจะเสมือนกำลังอยู่บนเนินเขา และมองเห็นพื้นที่สีเขียวจากรูฟพาร์คยาวต่อเนื่องสู่สวนลุมพินี โดยไม่มีสิ่งใดบดบังสายตา ในขณะที่หากมองมาจากสวนลุมพินีจะเห็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่อยู่ท่ามกลางหมู่ตึกสูงใจกลางเมือง เราหวังว่าการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการเกิดรูปแบบไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนเมือง จะทำให้รูฟพาร์คแห่งนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางแห่งไลฟ์สไตล์ในอนาคต.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ