อุบัติเหตุตกเรือ ตกน้ำ หรือจมน้ำ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่บางครั้งก็หลีกเลี่ยงยาก เนื่องจากเราอาจต้องโดยสารเรือในชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้เรือในการเดินทาง ดังนั้น การรู้จักวิธีเอาตัวรอดจากการจมน้ำ หรือพลัดตกเรือขณะโดยสาร ถือเป็นทักษะด้านความปลอดภัยเบื้องต้นควรรู้ไว้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จาก "อุบัติภัยทางน้ำ" ที่ไม่คาดฝัน

5 วิธีเอาตัวรอดจากการจมน้ำ ตกน้ำ พลัดตกเรือ ทำอย่างไรให้ลอยตัวได้นานที่สุด?

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เผยแพร่คู่มือประชาชนในการเตรียมตัวให้รอดปลอดภัยพิบัติ ซึ่งได้รวบรวมวิธีป้องกัน เอาตัวรอด และให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินด้านต่างๆ รวมถึงการเกิดอุบัติภัยทางน้ำในรูปแบบต่างๆ หากพลัดตกเรือ ตกน้ำ หรือจมน้ำ มีข้อแนะนำด้านความปลอดภัยและวิธีป้องกันให้ทำตามวิธีการดังต่อไปนี้ 

1. อย่าลืมสวมเสื้อชูชีพขณะนั่งเรือ
หลายคนอาจละเลยการสวมเสื้อชูชีพ แต่หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เสื้อชูชีพจะช่วยให้เราพยุงตัวอยู่ในน้ำได้นานประมาณ 3-6 ชั่วโมง หากเป็นเสื้อชูชีพคุณภาพดีอาจช่วยให้ลอยตัวอยู่ได้นานอีกหลายชั่วโมง แนะนำให้สวมเสื้อชูชีพสีสดๆ เพราะสังเกตเห็นได้ง่าย ที่สำคัญควรล็อกทุกจุดให้ครบ อย่าเพียงแค่สวมไว้เฉยๆ

...

2. กระจายการนั่งบนเรืออย่างสมดุล
ในกรณีที่นั่งเรือกันหลายคน โดยเฉพาะเรือขนาดเล็ก เช่น เรือสปีดโบ๊ต ผู้โดยสารควรกระจายน้ำหนักในการนั่งเรืออย่างสมดุล ไม่ไปยืนที่บริเวณกราบเรือ-ท้ายเรือ เพราะเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการพลัดตกเรือและตกน้ำ หากเรือเอียงไหวหรือโคลงเคลง อย่าตื่นตระหนก จับยึดพนักเรือไว้ให้มั่น

3. ว่ายน้ำออกจากตัวเรือให้เร็วที่สุด
หากพลัดตกเรือ หรือเรือโดยสารล่ม ควรพยายามว่ายน้ำออกห่างจากเรือโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือ หากเป็นไปได้ให้คว้าสิ่งของที่ลอยน้ำได้ เพื่อยึดเกาะไว้ อย่าฝืนว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง เพราะอาจหมดแรง หรือเป็นตะคริวระหว่างว่ายน้ำได้ ทางที่ดีควรส่งสัญญาณให้คนอื่นรู้ว่ากำลังประสบภัย ดังนี้

  • ร้องตะโกนขอความช่วยเหลือ
  • เป่านกหวีดที่ติดมากับเสื้อชูชีพ
  • ทำสัญลักษณ์โบกมือขึ้น-ลงเหนือศีรษะ
  • ปลดเสื้อผ้า-เครื่องประดับที่ถ่วงน้ำหนักออก 

4. ฝึกพยุงตัวให้ลอยตัวอยู่ในน้ำอย่างมีสติ
วิธีลอยตัวในน้ำสามารถทำได้ทุกคน รวมถึงคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ขอเพียงแค่มีสติและพยุงตัวให้ลอยน้ำเพื่อรอความช่วยเหลือ โดยใช้แขนและขาทั้ง 2 ข้างตีน้ำไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • วิธีลอยตัวในน้ำ 1 : นอนหงายให้ปากและจมูกโผล่พ้นน้ำเพื่อหายใจเอาอากาศเข้าปอดก็ได้ อย่าเกร็งตัว ให้ใช้มือทั้ง 2 ข้าง พุ้ยน้ำเบาๆ ส่วนขาทั้ง 2 ข้าง ให้ถีบน้ำคล้ายๆ กับท่าของกบ คนว่ายน้ำไม่เป็นก็สามารถทำได้ ค่อยๆ พยุงตัวลอยไปเรื่อยๆ พอรอความช่วยเหลือ แต่ในกรณีที่น้ำเชี่ยวให้เปลี่ยนมาเป็นท่าลอยคว่ำหน้า ไม่เกร็งตัว เงยหน้าขึ้นมาสูดอากาศเข้าปอดเป็นครั้งคราว 
  • วิธีลอยตัวในน้ำ 2 : พยายามลอยตัวในน้ำโดยนอนนิ่งๆ อยู่กับที่ ให้ศีรษะอยู่พ้นน้ำ ใช้แขนทั้ง 2 ข้าง กดลงน้ำแล้วกวาดออกไปด้านข้าง ดึงแขนกลับมาแล้วกดลงน้ำซ้ำอีกครั้ง คล้ายๆ กับการวาดเลขแปดในน้ำ พร้อมกับถีบขาเบาๆ แบบไม่ต้องพับเข่ามากนัก ท่านี้จะทำให้เราสามารถยกแขนขึ้นเพื่อโบกมือขอความช่วยเหลือได้ด้วย

5. คนที่ว่ายน้ำเป็น อย่าว่ายทวนน้ำเด็ดขาด
การพยายามว่ายน้ำในทะเล หรือแม่น้ำที่กว้างและมีความลึก จะทำให้เราหมดแรงได้ง่าย ที่สำคัญไม่ควรว่ายน้ำสวนทิศทางน้ำเด็ดขาด ควรว่ายตามแนวคลื่นเพื่อพยายามเข้าใกล้ฝั่ง หรือตลิ่งให้มากที่สุด และให้หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางประเภทเศษขยะ พืชน้ำ ผักตบชวา ฯลฯ เนื่องจากอาจเข้ามาพันตัวเราจนว่ายน้ำยากกว่าเดิม อีกทั้งไม่ควรเข้าใกล้สะพาน เพราะมักเป็นจุดที่มีกระแสน้ำวน

...

ในกรณีที่เราเห็นคนตกเรือ ตกน้ำ หรือจมน้ำ กำลังขอความช่วยเหลือ ให้รีบโยนสิ่งของที่สามารถเกาะเพื่อพยุงตัวได้ลงไปให้ เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยางชูชีพ ถังแกลลอน ฯลฯ พร้อมกับรีบโทรหาเบอร์ฉุกเฉิน : แจ้งอุบัติเหตุทางน้ำ 1196 หรือ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669

อย่างไรก็ตาม การเอาตัวรอดจากการพลัดตกเรือ ตกน้ำ และจมน้ำ ถือเป็นวิธีเบื้องต้นที่สามารถทำได้จริง เพื่อประคับประคองตัวเองให้สามารถเอาชีวิตรอดได้นานที่สุด ในระหว่างที่รอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือไว้ จึงเป็นหนึ่งในการป้องกันอุบัติเหตุที่ดีที่สุด