จากการที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดขั้นตอน มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (UCEP) เพื่อให้เกิดการบริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้สิทธิ์สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม 2565 แล้วเจ็บป่วยระดับไหนถึงจะได้รับสิทธิ์การรักษาในโรงพยาบาล เรารวมข้อมูลมาให้แล้ว
อาการโควิดสีเขียว
ผู้ป่วยที่มีอาการโควิดสีเขียว คือผู้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น
- มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่รับกลิ่น
- ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ
- ตาแดง มีผื่น และถ่ายเหลว
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้เข้าระบบรักษาที่บ้าน (HI : Home Isolation) หรือชุมชน (CI : Community Isolation) เช่น โรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล ซึ่งยังพอมีพื้นที่ว่างให้เข้ารับการรักษา ทั้งนี้ก็เพื่อบริหารจัดการให้เหลือจำนวนเตียงในโรงพยาบาลไว้รองรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักอย่างผู้ป่วยโควิดสีเหลืองและสีแดง ซึ่งต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
...
อาการโควิดสีเหลือง
ผู้ป่วยที่มีอาการโควิดสีเหลือง คือผู้ที่มีอาการเสี่ยงรุนแรง หรือมีโรคร่วม เช่น
- เวียนหัว อ่อนเพลีย ไอแล้วมีอาการเหนื่อย
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
- ขับถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวันขึ้นไป
- อ่อนเพลีย ปอดอักเสบ
ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้จัดว่าเป็นผู้ป่วยโควิดสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากมีอาการที่รุนแรงกว่าผู้ป่วยโควิดสีเขียว จึงไม่เหมาะที่จะทำการกักตัวรักษาที่บ้านแบบ HI หรือ CI ได้ และควรเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการดูแลจากแพทย์
อาการโควิดสีแดง
ผู้ป่วยที่มีอาการโควิดสีแดง คือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาตัวโดยเร็ว
- ระบบหายใจมีปัญหารุนแรง ทำให้หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หากเอกซเรย์จะพบปอดอักเสบรุนแรง
- เกิดภาวะปอดบวมจากการเปลี่ยนแปลงความอิ่มตัวของเลือด
- แน่นหน้าอกตลอดเวลา และหายใจเจ็บหน้าอก
- ตอบสนองช้า หรือไม่รู้สึกตัว
อาการของผู้ป่วยโควิดสีแดงจัดว่ามีอาการรุนแรง ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิดที่ห้อง ICU เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับเครื่องช่วยหายใจ
โดยผู้ป่วยที่ได้รับสิทธิ์การรักษาในระบบ UCEP คือผู้ป่วยโควิดที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เช่น ผู้ป่วยโควิดสีเหลือง และผู้ป่วยโควิดสีแดง ยังสามารถใช้สิทธิ์รักษาได้ทุกที่ตามสิทธิ์ UCEP PLUS โดยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป การรักษาผู้ติดโควิด-19 จะเป็นไปตามสิทธิ์รักษาพยาบาลตามสิทธิ์ของประชาชน นั่นคือ
- การรักษาโควิด-19 ในโรงพยาบาลเอกชนสำหรับผู้ป่วยอาการไม่อยู่ในระดับวิกฤติ จะไม่ฟรีอีกต่อไป จากเดิมที่ผู้ป่วยติดโควิด-19 ดังกล่าวสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะรัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาโควิด ยังสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมที่ผู้ประกันตนเลือกโรงพยาบาลเอกชนไว้ได้ หากแพทย์วินิจฉัยว่าต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
- กรณีไม่มีสิทธิ์ประกันสังคม ผู้เข้ารับการรักษาโควิดที่โรงพยาบาลเอกชน สามารถใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพที่ทำไว้เอง แต่ส่วนนี้ยังต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ไปเจรจากับธุรกิจประกันว่า จะตีความว่าผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือในฮอสพิเทล เป็นผู้ป่วยในสามารถใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพที่ทำอยู่ได้หรือไม่ รวมถึงต้องจ่ายเพื่อซื้อประกันโรคโควิดเพิ่มหรือไม่
- ผู้ที่ถือบัตรประกันสังคม บัตรทอง หรือสิทธิ์ราชการ เข้ารักษาในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนได้ตามสิทธิ์ที่มีอยู่ตามปกติ
ดังนั้นจึงหมายความว่า ผู้ป่วยที่มีอาการโควิดสีเขียว ซึ่งไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย แต่อยากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้ก็เพื่อปรับตามสถานการณ์ให้เป็นธรรมทั้งกับประชาชนและภาครัฐในเรื่องงบประมาณ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ระบุจำนวนผู้ที่ป่วยโควิดและอยู่ระหว่างการรักษา ดังนี้
...
- กำลังรักษาในโรงพยาบาล 77,071 คน
- อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 89,326 คน แบ่งเป็นในฮอสพิเทล 49,374 คน รักษาตัวที่บ้าน หรือในชุมชน 38,931 คน และอื่นๆ หรือไม่ระบุ 1,021 คน โดยมีผู้ป่วยอาการหนัก ปอดอักเสบ 796 คน และใส่ท่อช่วยหายใจ 202 คน
สำหรับจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยนั้น เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงไว้ว่า มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 194,883 เตียง เฉพาะเตียงสีแดงสำหรับผู้ป่วยหนัก 5,708 เตียง และเตียงสีเหลือง 73,427 เตียง
ข้อมูลอ้างอิง: กระทรวงสาธารณสุข