การสร้างหุ่นยนต์ปลาขับเคลื่อนได้อิสระไม่ใช่เรื่องใหม่ มีนักวิทยาศาสตร์หลายรายได้พัฒนาสร้างหุ่นยนต์ประเภทนี้เพื่อใช้งานอันหลากหลาย หนึ่งในงานที่น่าสนใจคือการใช้เซลล์จากสัตว์หรือมนุษย์เข้ามาเป็นส่วนประกอบในการสร้างหุ่นยนต์ เมื่อราว 10 ปีก่อนก็มีนักวิจัยใช้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนู มาสร้างปั๊มน้ำกึ่งชีวภาพที่มีลักษณะคล้ายแมงกะพรุน หรือเมื่อกว่า 6 ปีก่อนก็มีนักวิจัยสร้างปลากระเบนเทียมว่ายน้ำโดยใช้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนู
ล่าสุดทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยเอม โมรีในสหรัฐอเมริกา ได้สร้างหุ่นยนต์ปลากึ่งชีวภาพ หรือ “ไบโอไฮบริด” (biohy brid) ที่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระแบบสมบูรณ์ตัวแรกด้วยเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่ได้จากสเต็มเซลล์ของมนุษย์ หุ่นยนต์ปลาตัวนี้จะแหวกว่ายโดยอาศัยวิธีที่คล้ายกับการหดตัวของกล้ามเนื้อของหัวใจเมื่อมีการสูบฉีด ทีมวิจัยอธิบายว่าได้สร้างวงจรขึ้นใหม่ที่ทำให้เห็นว่าการหดตัวแต่ละครั้งจะส่งผลให้เกิดการหดตัวโดยอัตโนมัติเพื่อตอบสนองต่อการยืดกล้ามเนื้อในฝั่งตรงข้าม ส่วนรูปร่างและการเคลื่อนไหวว่ายน้ำของหุ่นยนต์ปลาตัวนี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากปลาม้าลาย ทำจากพลาสติก กระดาษ และเจลาติน
ไบโอไฮบริดเลียนแบบปลาม้าลายรุ่นนี้ มีเซลล์กล้ามเนื้อ 2 ชั้น โดยแต่ละชั้นจะอยู่ที่ครีบหาง เมื่อฝั่งหนึ่งหดตัว อีกฝั่งก็จะยืดออก โดยมันสามารถว่ายได้นานกว่า 100 วัน ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของทีมวิจัยคือจะนำผลสำเร็จนี้ไปพัฒนาสร้างหัวใจเทียมเพื่อทดแทนหัวใจที่พิการผิดรูปในเด็ก.
(ภาพประกอบ Credit : Michael Rosnach, Keel Yong Lee, Sung-Jin Park, Kevin Kit Parker)