ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยมีความก้าวหน้าในการพัฒนาหุ่นยนต์นิ่ม (soft robots) ซึ่งตั้งชื่อตามวัสดุอ่อนนุ่มที่นำมาใช้สร้างหุ่นยนต์ โดยทั่วไปแล้ว หุ่นยนต์ประเภทนี้สร้างขึ้นเพื่อเลียน แบบสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ เพราะนักวิจัยเชื่อว่าสักวันหนึ่งเทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่การพัฒนาหุ่นยนต์ตัวเล็กที่ใช้ช่วยงานได้หลากหลาย โดยเฉพาะใช้ในทางการแพทย์
ทว่าส่วนใหญ่หุ่นยนต์นิ่มจะทำจากวัสดุที่ไม่อาจย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพราะวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพนั้นมีข้อจำกัด เช่น การละลายในน้ำ การขึ้นรูป และอายุการใช้งานที่จำกัด แต่เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโยฮันเนส เคปเลอร์ แห่งเมืองลินซ์ ในออสเตรีย รายงานการวิจัยที่ใช้น้ำตาลและเจลาตินที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาพัฒนาหมึกสำหรับใช้ในการผลิตหุ่นยนต์นิ่มพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งเมื่อทดลองทำในห้องปฏิบัติการ ส่วนผสมเหล่านี้ถูกทำให้ร้อนจนถึงจุดที่นุ่ม เพื่อให้สารสามารถผ่านหัวพิมพ์ได้ เมื่อทีมงานนำสารผ่านเครื่องพิมพ์ในห้องเย็น เจลาตินก็แข็งตัว
ทั้งนี้ ทีมวิจัยวาดฝันว่าวันหนึ่งสารนี้จะช่วยปูทางไปสู่การพัฒนาหุ่นยนต์ขนาดเล็กๆให้เคลื่อนที่ไปทั่วภายในร่างกายของมนุษย์ ช่วยในการลำเลียงส่งยารักษาโรค หรือแม้แต่การซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย.