จนถึงปัจจุบันนี้การพัฒนาสร้างหุ่นยนต์บินได้ที่มีขนาดเล็กๆ ทั่วไปนั้นจะใช้มอเตอร์ เกียร์ และระบบส่งกำลังที่ซับซ้อน เพื่อให้ปีกของหุ่นยนต์ขยับขึ้นขยับลงได้ ทว่าสิ่งเหล่านี้ก็เพิ่มความซับซ้อนในกลไกการทำงาน เพิ่มน้ำหนัก และผลกระทบอื่นๆ ที่ไม่ต้องการ
แต่เมื่อเร็วๆนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการหุ่นยนต์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบริสตอลในอังกฤษ รายงานความสำเร็จในการพัฒนาระบบขับเคลื่อนแบบใหม่สำหรับหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่สามารถกระพือปีกบินได้ โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากการกระพือปีกของผึ้งและแมลงบินชนิดอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญเรียกระบบขับเคลื่อนนี้ว่า Liquid-amplified Zipping Actuator (LAZA) จะทำให้ปีกหุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้โดยไม่ต้องใช้มอเตอร์และเกียร์แบบเดิม ระบบ LAZA จะช่วยลดความซับซ้อนของกลไกการกระพือปีกอย่างมาก ทำให้สามารถย่อขนาดหุ่นยนต์ในอนาคตให้เล็กลงจนมีขนาดเทียบเท่าแมลงได้
ทีมได้ทดลองการกระพือปีกคู่หนึ่งซึ่งขับเคลื่อนด้วยระบบ LAZA พบว่าสามารถให้พลังงานมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกล้ามเนื้อแมลงจริงที่มีน้ำหนักเท่ากัน ปีกหุ่นยนต์กระพืออย่างสม่ำเสมอมากกว่า 1 ล้านรอบ เรียกว่าเพียงพอที่จะทำให้หุ่นยนต์บินข้ามห้องได้ และด้วยปีกที่ออกแบบให้มีน้ำหนักเบา มีประสิทธิภาพสูง จึงเหมาะสำหรับภารกิจการสำรวจระยะไกล รวมทั้งการค้นหาและกู้ภัยในระยะยาว.
(ภาพประกอบ credit : Dr Tim Helps-University of Bristol)