ผมเป็นแฟนที่เหนียวแน่นคนหนึ่งของนิตยสาร Marketeer นิตยสารการตลาดแบบไทยๆ ที่ออกวางจำหน่ายมานานหลายปีแล้ว...และทุกวันนี้ก็ยังมีวางตามร้านหนังสือในห้างสรรพสินค้าต่างๆ

ทุกครั้งที่คณะผู้จัดทำส่งมาให้ผม ผมจะอ่านตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย (รวมถึงโฆษณาด้วย) ด้วยความชื่นชมในลีลาการนำเสนอที่เขียนด้วยภาษาง่ายๆ และในข้อมูลที่มีการประมวล การสำรวจ หรือการสัมภาษณ์เจ้าของสินค้าต่างๆมาลงประกอบอย่างละเอียด

อย่างฉบับล่าสุดที่ส่งมาให้ผมเมื่อต้นๆปีใหม่นี้เอง ไม่ได้บอกวันเดือนปีไว้ แต่บอกว่าเป็น Issue ที่ 243 ก็ลงรายละเอียดและเบื้องหน้าเบื้องหลังของสินค้าต่างๆที่เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย หลายๆยี่ห้อ

ผมชอบใจสินค้าอยู่ชิ้นหนึ่งครับ...ชอบมากๆและเคยพึ่งพาอาศัยมานานมาก...และทุกวันนี้ก็ยังพึ่งพาอาศัยเป็นครั้งคราว...ถึงขนาดต้องซื้อใส่ตู้ในห้องครัวเพื่อสต๊อกเอาไว้...สำหรับจะหยิบฉวยออกมาใช้ประโยชน์...ในยามที่ ขอประทานโทษ นึก “อยาก” จะกินสินค้าที่ว่านี้

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ไงล่ะครับ...ต้นตำรับอาหารสำหรับคนจนในประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นอาหารที่สามารถพกพาใส่กระเป๋าเดินทางติดตัวไปทั่วโลกได้...จึงกลายเป็นอาหาร “โอชะ” ที่ทำให้คนไทยหายคิดถึงบ้านเวลาเดินทางไปต่างแดน

ตามประวัติที่นิตยสาร Marketeer สัมภาษณ์ คุณ พจนา พะเนียงเวทย์ ซีอีโอของบริษัทผู้ให้กำเนิดมาม่านั้น...สรุปได้ว่า บริษัทได้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อนี้ขายในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2515 ในราคาซองละ 2 บาท

แต่ผมเพิ่งจะมีโอกาสรับประทานเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ.2532 ที่มีการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ

...

ผมมีโอกาสเดินทางไปให้กำลังใจทีมนักข่าวกีฬาของไทยรัฐที่ไปปักหลักทำข่าวซีเกมส์ครั้งที่ว่า...และในตอนดึกๆ น้องๆจะชง “มาม่า” มาให้ผมรับประทานเป็นอาหารก่อนนอน คืนละซองอยู่เสมอๆ

น้องๆเล่าให้ฟังว่าเป็นความนิยมของนักข่าวกีฬา รวมทั้งทีมกีฬาไทยเราด้วยมาแล้วหลายปีก่อนหน้านั้นที่จะขน “มาม่า” ติดตัวเป็น เสบียงกรังไปด้วยในเวลาไปทำข่าวและไปแข่งขันในต่างประเทศ

สำหรับพวกเรานักข่าวกีฬาถือว่าเป็น “อาหารหลัก” เลยละครับ เพราะเบี้ยเลี้ยงมักจำกัดจำเขี่ย ก็ต้องหาของประหยัดไว้บ้าง...แต่สำหรับนักกีฬาไทยจะมีไว้เป็นอาหารเสริมเพื่อให้หายคิดถึงประเทศไทย

เพราะเขาจะมีรส “ต้มยำ” ต่างๆ เช่น “ต้มยำกุ้ง” รับประทานไปจินตนาการไปก็เสมือนหนึ่งได้รับประทาน “ต้มยำกุ้งแม่นํ้าจืด อยุธยา” หายคิดถึงบ้านไปได้เยอะเลย

หลังจากนั้นผมก็กลายเป็นสมาชิก “มาม่า” ไปเช่นเดียวกับน้องๆฝ่ายข่าวกีฬา...คือจะพกติดตัวไปหลายๆสิบซองเวลาเดินทางไปดูงานหรือไปทำข่าว ณ ประเทศต่างๆ

จากบทสัมภาษณ์ทำให้ทราบว่าปัจจุบัน บริษัทไทย เพรสิเดนท์ฟูดส์ฯ ได้ส่งมาม่าไปขายถึง 68 ประเทศทั่วโลก

ขายดีอันดับต้นๆก็คือ กัมพูชา สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ และรัสเซีย

มีโรงงานตั้งอยู่ในประเทศไทย 5 แห่ง และต่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ ฮังการี บังกลาเทศ เมียนมา และกัมพูชา

อนาคตกำลังมุ่งหน้าไปตะวันออกกลาง และอินเดีย

ปัจจุบันจากมาม่า 65 รสชาตินั้น ส่งไปขายต่างประเทศ ถึง 35 รสชาติ ขายดีที่สุดคือ หมูสับ, ต้มยำกุ้ง, ไก่ และต้มยำกุ้งนํ้าข้น

รายได้รวมของบริษัททั้งในและต่างประเทศตกปีละ 14,300 ล้านบาท 70 เปอร์เซ็นต์ คือรายได้ภายในประเทศ และ 30 เปอร์เซ็นต์ คือรายได้จากการส่งออก ซึ่งคาดว่าต่อไปจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ขึ้นอีก

คุณ พจนา พะเนียงเวทย์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ในส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเราขายบะหมี่นะคะ...แต่เรากำลังขายอาหารไทย ขายรสชาติของความเป็นไทยที่หลากหลาย แล้วแต่ใครจะชอบแบบไหน”

ก็ขอเอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น...ตามประสาคน รักไทย เชียร์ไทย และให้กำลังใจสินค้าไทยมาโดยตลอด

เคยเขียนถึง “กระทิงแดง” ด้วยความตื่นเต้น เมื่อไปเจอที่ร้านจีนที่แคนาดา เมื่อ 30 ปีก่อนโน้น และเขียนด้วยความดีใจเมื่อพบว่า “กระทิงแดง” ได้กลายเป็น “เรดบูลส์” เครื่องดื่มระดับโลก เมื่อสัก 15-16 ปีที่ผ่านมา

จะดีใจมากอีกครั้ง หาก “มาม่า” อาหารขวัญใจคนจนของประเทศไทย จะกลายเป็นอาหารระดับโลกในอนาคต ขอเอาใจช่วยนะครับ.

“ซูม”