บ้านสามเสน ที่อยู่มาตั้งแต่เกิดเล็กไป สิบกว่าปีก่อนสองพี่น้อง เรณุมาศ และ ศุภมาส อิศรภักดี จึงย้ายออก แต่ยังรักษาบ้านโบราณแสนสวยไว้อย่างดี เพราะอยากรักษาเป็นมรดกที่ผู้ใหญ่ ของตระกูลสร้างไว้ในสมัยต้นสกุล คือ พระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) บุตรชาย พระพรหมาภิบาล (แขก) สมุหราชองครักษ์ กับ คุณหญิงเลื่อน ซึ่งต่อมา พระสรรพการหิรัญกิจ เลขานุการพระคลังมหาสมบัติ สมรสกับ ทรัพย์ ธิดา พลตรี พระยาอภัยรณฤทธิ์ (เวก ยมาภัย) ขุนนางผู้ใหญ่ในกรมพระตำรวจหลวง เพราะ คุณหญิงเปลี่ยน และ คุณนวลอภัยรณฤทธิ์ ภรรยาพระยาอภัยฯ สนิทกันตั้งแต่ครั้งเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามในรัชกาลที่ 4 จึงให้บุตรธิดาแต่งงานกัน
เมื่อเสนาบดีพระคลังมหาสมบัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย พระอนุชาในรัชกาลที่ 5 ก่อตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของกรุงสยาม และทดลองตั้งธนาคารขนาดเล็ก ที่บ้านหม้อ ชื่อ บุคคลัภย์ (Book Club) เมื่อ พ.ศ.2447 ทรงให้ พระสรรพการหิรัญกิจ เป็นผู้จัดการ จนกิจการก้าวหน้า จึงตั้งเป็น บริษัทแบงก์สยามกัมมาจลทุน จำกัด แต่ต่อมา ธนาคารขาดทุน พระสรรพการหิรัญกิจ พ้นจากหน้าที่และยศ จึงไปเรียนกฎหมาย และสอบได้ภายใน 1 ปี จึงได้เป็นอัยการหรือทนายหลวง และได้รับพระราชทินนาม อำมาตย์โท พระอรรถวสิษฐสุธี--แม้ตอน บุคคลัภย์ ขาดทุน ทำให้ท่านตกเป็นที่ครหา แต่ในที่สุดก็พ้นมลทินหมดจด โดยหลานปู่ พีระพงศ์ อิศรภักดี เล่าว่า เมื่อ รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุล อิศรภักดี แปลว่า ผู้ที่จงรัก ภักดีต่อผู้เป็นใหญ่ ได้รับสั่งกับข้าราชบริพารว่า “ไอ้เชยมันไม่ได้โกงใคร” สร้างความปีติแก่ พระอรรถวสิษฐสุธี และลูกหลานเป็นล้นพ้น--ส่วน บ้านหิมพานต์ ที่งดงามโก้หรู ซึ่งตกเป็นของแบงก์สยามกัมมาจล ต่อมา รัชกาลที่ 6 ทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 240,000 บาท เพื่อจัดตั้งเป็น สถานพยาบาล และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด วชิรพยาบาล เมื่อ 2 มกราคม พ.ศ.2455 และพระราชทานเป็นสาธารณประโยชน์จากนั้นเรื่อยมา
...
ในโอกาสครบ 110 ปี วชิรพยาบาล ได้บูรณะสถานที่แห่งนี้ด้วยงบ 100 กว่าล้าน เพื่อเปิด ตึกเหลือง เป็นพิพิธภัณฑ์ ตึกวชิราวุธานุสรณ์ ให้เข้าไปชมความเป็นมาของ บ้านหิมพานต์ ซึ่งครั้งหนึ่งหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam ได้กล่าวถึง ขุนนาง สยาม ผู้หนึ่งว่า มีความสำคัญมาก และมีบ้านใหญ่โต สวยงามที่สุดในพระนคร เป็นรองเพียงพระบรมมหาราชวัง เพราะเป็นอาคารแบบ Neo classic ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบ Gothic และ Art Nouveau ฝีมือช่างอิตาเลียนที่เข้ามาทำงานในสยาม ใช้เวลาสร้างระหว่าง พ.ศ.2448-2451
วันขึ้นตึกใหม่ เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ.2451 รัชกาลที่ 5 เสด็จฯพระราชทานน้ำสังข์ พระราชทานพรแก่ พระสรรพการหิรัญกิจ และทอด พระเนตรบ้าน ประทับเสวยน้ำชา และงานขึ้นตึกใหม่ 12 มีนาคม พ.ศ.2451 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) เสด็จฯพร้อมพระบรม วงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ในบ้านยังมี เขาดิน หรือที่เรียกว่า ป๊ากสามเสน ซึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเปิดเมื่อ 1 พ.ย พ.ศ.2451 ก่อนเปิดให้ชาวพระนครไปพักผ่อนหย่อนใจ--บ้านหิมพานต์ จึงเป็นสถานที่มีเรื่องราวงดงามทรงคุณค่าอย่างยิ่ง... ได้เขียนเรื่องนี้ ทำให้ โสมชบา รู้สึกเต็มตื้น เพราะเกิดที่วชิรพยาบาล แต่ปีไหนโปรดอย่าถาม!!
โสมชบา