มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ทำให้สุขภาพคนไทยย่ำแย่ มีผู้ป่วยด้วยโรคจากฝุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่แสบตา ไอ ไปจนถึงมะเร็ง ซึ่งถ้าใครอยากได้อากาศสะอาด ปราศจากฝุ่น ต้องลงทุนเอง ตั้งแต่การซื้อหน้ากากอนามัยกันฝุ่น ไปจนถึงต้องลงทุนซื้อเครื่องฟอกอากาศ เพราะการแก้ปัญหาต้นเหตุการเกิดฝุ่นนั้นยังมองไม่เห็นว่าจะสำเร็จได้เมื่อไร

มลพิษทางอากาศ รวมทั้ง PM 2.5 ทำคนไทยป่วยหลายล้านคน
มลพิษทางอากาศ ที่รวมทั้งฝุ่นละออง PM 2.5 ส่วนใหญ่ในหลายจังหวัดเกิดจากการเผาป่า วัสดุทางการเกษตร หรือบางจังหวัดเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สาเหตุหลักมาจากท่อไอเสียรถดีเซล จนก่อให้เกิดกลุ่มโรคต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรคจำแนกเป็นรายโรค และอาการได้ ดังนี้

กลุ่มโรคทางเดินหายใจที่หากเป็นทางเดินหายใจส่วนต้น จะมีอาการไอ หรือจามแรงๆ ทำให้เส้นเลือดฝอยในจมูกแตก ทำให้ไอ หรือจามเป็นเลือดได้ และหากมีผลกระทบต่อทางเดินหายใจส่วนปลาย จะทำให้ปอดมีประสิทธิภาพลดลง

กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด และสมองอุดตันขาดเลือด ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นแรงขึ้น อาจทำให้เสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน กลุ่มโรคตาอักเสบ เกิดความระคายเคือง แสบตา ตาแดง กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ โรคภูมิแพ้

กลุ่มโรคอื่นๆ เช่น ระบบสืบพันธุ์ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด มีผลกระทบต่อระบบสมองของทารก และพัฒนาการตามวัยของทารก มีผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ รบกวนการทำงานของร่างกายในการหลั่งอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ทำให้อาจเป็นเบาหวาน และกลุ่มโรคมะเร็งปอด

อาการกลุ่มโรคเหล่านี้ รวมแล้วมีผู้ป่วยหลายล้านคนต่อปี ซึ่งจากการค้นดูข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2564 มีผู้ป่วยรวมแล้วมากถึง 7.79 ล้านคน (7,795,677 คน) เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคน จากปี 2563 ที่มีผู้ป่วย 6.88 ล้านคน (6,883,562 คน)

...

7 ปี นำเข้าเครื่องฟอกอากาศกว่าหมื่นล้าน

สถานการณ์แบบนี้ ทำให้ใครที่อยากหายใจสะดวก ได้อากาศที่สะอาด ส่วนใหญ่จึงลงทุนเอง โดยเฉพาะการซื้อเครื่องฟอกอากาศไว้ประจำบ้าน หรือไว้ในออฟฟิศ โดยพบว่าประเทศไทยนำเข้าเครื่องฟอกอากาศจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะปีที่มีการรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสูง โดย Rocket Media Lab องค์กรที่ทำงานด้านข้อมูลเพื่อสื่อสารมวลชน ได้เปิดเผยรายงานว่าไทยมีการนำเข้าเครื่องฟอกอากาศ หรือ เครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์ (เรียกชื่อตามเลขพิกัดศุลกากร เลขที่ 84213920) มาอย่างต่อเนื่อง โดยย้อนดูสถิติตั้งแต่ปี 2558-2564 ดังนี้

ปี 2558 นำเข้า 179,993 ชิ้น มูลค่า 883,678,917 บาท
ปี 2559 นำเข้า 163,228 ชิ้น มูลค่า 757,650,318 บาท
ปี 2560 นำเข้า 239,425 ชิ้น มูลค่า 687, 576,329บาท
ปี 2561 นำเข้า 883,482 ชิ้น 611,551,409 บาท
ปี 2562 นำเข้า 5,221,286 ชิ้น มูลค่า 2,78,4221,707 บาท
ปี 2563 นำเข้า 6,258,280 ชิ้น มูลค่า 2,598,342,715 บาท
ปี 2564 นำเข้า 5,097,054 ชิ้น มูลค่า 1,780,682,954 บาท

จะเห็นว่าในปี 2561 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 883,482 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 611,551,409 บาท หรือเติบโต 269% และในปี 2562 ค่าฝุ่น PM 2.5 มีการนำเข้าสูงถึง 5,221,286 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 2,78,4221,707 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 490% และหากย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2558 มีการนำเข้าพบว่ามีการนำเข้าเครื่องฟอกอากาศมูลค่ารวมแล้ว 10,103,704,349 บาท

นอกจากนี้ หากคำนวณมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากผลการศึกษาของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ IQAir พบว่าในปี 2563 มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทยกว่า 14,000 รายใน 6 จังหวัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 149,367,000,000 บาท เฉพาะกรุงเทพมหานครมีความเสียหายมูลค่าทางเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศ PM 2.5 กว่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 104,557,000,000 บาท

Rocket Media Lab ได้เปรียบเทียบการสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 กับการสูบบุหรี่ของคนกรุงเทพฯพบว่าในปี 2564 คนกรุงเทพฯ สูดฝุ่นพิษจำนวนมาก เปรียบเทียบได้กับการสูบบุหรี่ถึง 1,261 มวนเลยทีเดียว

...

นี่คือสถานการณ์ที่ฝุ่นมลพิษทางอากาศยังมีอยู่ และอยู่ในช่วงการรอกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดการกับปัญหา โดยก่อนหน้านี้ภาคประชาชน ได้นำเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหามลพิษและเกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด 5 ฉบับ ถูกตีตกไป 3 ฉบับ เหลือเพียง 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ .... นำเสนอโดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น ทางเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. .... ซึ่งทางเครือข่ายอากาศสะอาดเพิ่งจะนำรายชื่อ 26,500 ยื่นต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา และรอรัฐสภาพิจารณาว่าเป็นร่างกฎหมายการเงินหรือไม่ หลังจากนั้นจึงส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยร่างที่ถูกปัดตกก่อนหน้านี้ ถูกปัดตกด้วยเหตุที่ว่าถือเป็นร่างกฎหมายการเงิน