ลายพรางธรรมชาติเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่น่าสนใจที่สุดของธรรมชาติ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุศาสตร์พยายามพัฒนาวัสดุที่จะเลียนแบบความสามารถในการพรางตัวของสัตว์ตามธรรมชาติอย่างปลาหมึกยักษ์ แมง กะพรุน และปลาดาว ที่เปลี่ยนสีหรือรูปร่างให้เข้ากับพื้นหลังได้อย่างรวดเร็วได้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ประยุกต์ใช้กับหุ่นยนต์นิ่ม
ล่าสุดทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์อีสต์ของจีน เผยว่า ได้อาศัยแรงบันดาลใจจากสัตว์ในไฟลัมมอลลัสกา สัตว์จำพวกนี้จะมีลำตัวอ่อนนุ่ม มีเมือกลื่นๆ หรือมีเปลือกหรือกระดอง นำมาสร้างวัสดุนุ่มนิ่มที่เลียนแบบลักษณะดังกล่าว โดยเลือกวัสดุอีลาสโตเมอร์ผลึกเหลวที่เปลี่ยนช่วงของอุณหภูมิต่างกัน เมื่อถูกความร้อนโมเลกุลผลึกเหลวที่เป็นอีลาสโตเมอร์จะสูญเสียการจัดเรียง ทำให้ส่วนของวัสดุเกิดการหดตัว นักวิจัยจึงใช้ลักษณะการหดตัวนี้ไปสร้างหุ่นยนต์นุ่มรูปร่างคล้ายปลาดาวเพื่อให้คลานได้ และเพิ่มสีย้อมที่ไวต่ออินฟราเรดลงในแฉกแขนของปลาดาว ซึ่งช่วยให้ขยายและหดตัวเมื่อสัมผัสกับแสงอินฟราเรดใกล้ และหุ่นยนต์ก็จะเคลื่อนที่ไปตามพื้นผิวคล้ายดักแด้ สีก็สามารถเปลี่ยนไปเพื่ออำพรางตัวได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังแสดงความสามารถในการรักษาตัวเอง เมื่อนักวิจัยตัดแฉกแขนของมันหรือแม้แต่ตัดตัวหุ่นยนต์ทั้งหมดออกเป็นชิ้นๆ ทว่าการให้ความร้อนกับชิ้นส่วนต่างๆก็ทำให้หุ่นยนต์รวมตัวอีกครั้งอย่างราบรื่นและได้หุ่นยนต์ตัวใหม่ที่อ่อนนุ่ม มีคุณสมบัติเหมือนเดิม.