เมื่อเร็วๆนี้ FAO หรือองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระดมพันธมิตรและขอความร่วมมือจากหน่วยงานทั่วโลกทั้งภาครัฐบาล เอกชน และครัวเรือนทั่วไป ช่วยกันลดขยะและความสูญเสียจากการผลิตอาหาร ซึ่งประมาณการว่า 1 ใน 3 ของการผลิตอาหารทั่วโลกสูญเสียไป ขณะที่ประชากรโลกเกือบพันล้านคนยังหิวโหย

Food Waste หรือขยะอาหาร เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมากใน ช่วง 5-6 ปีนี้ ทั้งการคัดทิ้งผักผลไม้ที่รูปร่างหน้าตาไม่สวย (Wonky Vegetables) หรือผักขี้เหร่ที่ไม่เป็นที่นิยมของตลาด หรือการที่ทางห้างทิ้งอาหารที่ใกล้ถึงวัน Best-before date ทั้งที่ยังกินได้ แต่คุณภาพหรือรสสัมผัสอาจจะด้อยลง การกินอาหารอย่างฟุ่มเฟือยจนเหลือทิ้ง ทำให้มีเศษอาหารที่กินไม่หมดและกลายเป็นขยะ ซึ่งมีรายงานว่า ในแต่ละปีทั่วโลกทิ้งขยะอาหารมากกว่า 1.3 พันล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ผักและผลไม้มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาขยะอาหารทั้งหมด

ด้วยเล็งเห็นปัญหาร่วมกัน ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจและตอบรับกระแสการจัดการ “ขยะอาหาร” หลายประเทศทำแคมเปญรณรงค์ตั้งแต่การให้ความรู้กับเด็กนักเรียนและชุมชน ให้เข้าใจระบบการผลิตอาหาร เรียนรู้เส้นทางของอาหาร จากแปลงเพาะปลูกจนถึงการปรุงอาหาร โดยเชื่อว่า เมื่อเด็กรับรู้คุณค่าของอาหารก็จะไม่กินทิ้งขว้าง

ในสหรัฐอเมริกา The Austin Independent School District รัฐเท็กซัส จัดทำโครงการ Garden to Cafe Program โดยการให้ปลูกผักสวนครัวในโรงเรียนเพื่อเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้กับนักเรียน และทางเขตยังได้เชิญชวนให้โรงเรียนปลูกพืชตามฤดูกาล ในจำนวนที่แน่นอน เพื่อให้โรงอาหารวางแผนเมนูอาหารได้ถูกต้อง ไม่ต้องมีอาหารเหลือทิ้งอีก

...

ในรัฐอริโซนามีการขอความร่วมมือบริษัทหรือห้างสรรพสินค้าได้บริจาคอาหารส่วนเกินแก่สถานสงเคราะห์ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ พร้อมกับมีการพัฒนาเทคโนโลยีคล้ายๆ “แอปฯจับคู่” ผู้บริจาคกับผู้ต้องการอาหารที่สามารถติดต่อขอไปรับอาหารส่วนเกินถึงที่แบบเรียลไทม์โดยที่อาหารยังสดอยู่

แคนาดาจัดทำโครงการ Fresh Roots’Schoolyard Market Gardens ให้การศึกษาด้านการเพาะปลูกกับนักเรียน และแบ่งปันความรู้ด้านอาหาร ด้านสุขภาพ อาหารที่นักเรียนปลูกก็จะส่งไปที่โรงอาหารของโรงเรียน และส่งออกไปยังชุมชน รวมถึงร้านอาหารในท้องถิ่น รวมถึงโครงการส่งขายผลผลิตตามชุมชนแบบรายสัปดาห์

โครงการซื้อจากชาวแอฟริกันเพื่อแอฟริกา หรือ The Purchase from Africans for Africa Program (PAA) เป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลบราซิล, อังกฤษ, FAO และโครงการ World Food Program ของ UN จัดทำเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยให้ขายผลผลิตกับโรงเรียนชุมชนใน 5 ประเทศ คือ เอธิโอเปีย มาลาวี โมซัมบิก ไนเจอร์ และเซเนกัล ผลงานนำร่องสามารถจัดซื้อผลผลิตในท้องถิ่นจำนวน 1 พันตัน ให้แก่นักเรียน 128,456 คน ใน 420 โรงเรียน เกษตรกรที่เป็นผู้ปกครองเด็ก สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 100% และกิจกรรมนี้ ยังรับประกันว่า จะเป็นตลาดรองรับผลผลิตของพวกเขาโดยเฉลี่ย 40% จากผลผลิตที่ได้

ออสเตรเลีย มูลนิธิ Stephanie Alexander Kitchen Garden โดย Stephanie Alexander ซึ่งเป็นเชฟเจ้าของร้านอาหาร และนักเขียนหนังสือทำอาหารชื่อดัง ทำโครงการให้เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมปลูกผักสวนครัวในโรงเรียน โดยใช้เวลาสัปดาห์ละอย่างน้อย 45 นาที ในสวนผัก และ 90 นาทีในห้องเรียนทำอาหาร ซึ่งเด็กๆจะได้เรียนรู้การจัดเตรียมอาหารและแบ่งปันอาหาร

ฟินแลนด์มีโครงการ Model Vihti สร้างผลผลิตที่ยั่งยืน และประสบการณ์เรียนรู้ธรรมชาติ เด็กๆ มีการวางแผนการปลูกพืชในฤดูกาลถัดไป เพาะเมล็ดพันธุ์ เตรียมดิน ปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมทั้งยังได้ไปเยี่ยมชมฟาร์ม ซึ่งครูก็จะมอบหมายงานในฟาร์มให้เด็กเรียนรู้และฝึกทักษะ เรียนรู้เกี่ยวกับป่าไม้ ระบบน้ำ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และทักษะการดำรงชีวิต โดยมุ่งเน้นในการช่วยให้เด็กๆเข้าใจความเชื่อมโยงของธรรมชาติและกระบวนการทางกายภาพในการผลิตอาหาร

สำหรับจีนดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เข้มข้นกว่าทุกประเทศ มีการออกนโยบายและรณรงค์เพื่อลดขยะอาหาร โดย ผู้นำจีนส่วนหนึ่งได้เรียกร้องให้สาธารณชนตระหนักถึงปัญหาขยะอาหารผ่านแคมเปญ “กินให้หมดจาน” โดยมีโปสเตอร์และคำขวัญต่อต้านขยะ
อาหารติดอยู่บนผนังของร้านอาหารหลายแห่ง โรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมด้วยเพื่อช่วยกันลดขยะอาหาร เลยไปถึงการออกกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้เกิดขยะอาหารเพื่อประกันความมั่นคงด้านอาหารเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ และสถาบันของรัฐ ต้องเข้มงวดในการจัดการงานเลี้ยงที่ใช้เงินของรัฐ ผู้ให้บริการจัดเลี้ยงควรมีมาตรการลดขยะอาหาร เช่น การปรับปรุงระบบการจัดการสำหรับการจัดซื้อ การจัดเก็บและการแปรรูปอาหาร รวมทั้งควรติดโปสเตอร์เพื่อเตือนผู้บริโภคให้ละเว้นจากการสั่งอาหารที่มากเกินไป และสามารถเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคที่กินทิ้งกินขว้างอาหาร

เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่มีการออกกฎหมายบังคับใช้เรื่องขยะอาหาร โดยกำหนดมาตรการลดปริมาณขยะอาหารที่ต้องฝังกลบ กำหนดให้ร้านค้าที่มีขนาดมากกว่า 400 ตารางเมตร (ตร.ม.) ต้องร่วมมือกับสถานสงเคราะห์ที่มีการบริจาคอาหาร และกำหนดให้การบริจาคอาหารต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยของอาหาร หรือห้ามบริจาคอาหารเน่าบูด

สำหรับประเทศไทยหลายหน่วยงาน องค์กร และภาคเอกชนต่างก็ร่วมกันรณรงค์แก้ปัญหาอาหารกลายเป็นขยะ เช่น มูลนิธิ Thai SOS หรือมูลนิธิรักษ์อาหาร เป็นมูลนิธิที่รับบริจาคอาหารเพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินจากโรงแรม ภัตตาคาร หรือร้านค้าปลีกที่ร่วมโครงการ ส่งต่อให้โรงเรียนชุมชน หรือสถานสงเคราะห์ เป็นโครงการ Food Rescue สร้างระบบกระจายอาหารคุณภาพดีที่ยังสามารถกินได้ ส่งต่อผู้ต้องการอาหาร ขณะที่นักวิจัยทีดีอาร์ไอเสนอไอเดีย “เพิ่มเพื่อลด” คือ เพิ่มแรงจูงใจในรูปแบบภาษี Tax Credits หรือลดภาษีแก่ภาคเอกชนที่บริจาคอาหารเหลือแก่ผู้ที่ต้องการอาหารรวมถึงควรเพิ่มกฎหมายให้เกิดการบริจาคอาหารส่วนเกินอย่างแท้จริง.

...