ดาวแคระน้ำตาลเป็นวัตถุที่มีคุณสมบัติอยู่ตรงกลางระหว่างดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ ดาวแคระชนิดนี้มีมวลอยู่ระหว่าง 13-80 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี แม้ว่าทุกวันนี้จะมีการตรวจพบดาวแคระน้ำตาลจำนวนมากก็ตามที แต่ดาวแคระจำพวกนี้ที่โคจรรอบดาวฤกษ์อื่นๆนั้นนับว่ายังหายาก

เมื่อเร็วๆนี้ทีมนักดาราศาสตร์ นำโดยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลวาเนีย หรือเพนสเตท ในสหรัฐอเมริกา รายงานว่าดาวเทียมเทสส์ (Transiting Exoplanet Survey Satellite-TESS) ที่สำรวจดาวเคราะห์นอกระบบ เครื่องมือขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ได้ตรวจพบดาวแคระน้ำตาลมวลมากที่โคจรรอบดาวแคระแดงชนิดเอ็ม (M) ที่ชื่อ TOI-2119 ซึ่งดาวแคระน้ำตาลขนาดมหึมาที่เพิ่งค้นพบนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า TOI-2119.01 พบว่ามีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีเกือบ 70 เท่า อีกทั้งรัศมีก็วัดได้ประมาณ 1.11 ของรัศมีดาวพฤหัสบดี และโคจรรอบดาวฤกษ์แม่ของตนในวงโคจรที่ค่อนข้างใกล้ เรียกว่าเป็นสิ่งที่หายากมาก

ทั้งนี้ ดาวฤกษ์แม่ TOI-2119 ที่เป็นดาวแคระแดงชนิดเอ็มนั้น มีขนาดและมวลเท่ากับดวงอาทิตย์เพียงครึ่งเดียว มีระยะเวลาการหมุน 13.2 วัน ความเป็นโลหะอยู่ที่ระดับ 0.1 นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า TOI-2119 มีความเป็นไปได้ที่จะมีอายุระหว่าง 700-5,100 ล้านปี.

(ภาพประกอบ Credit : NASA/JPL-Caltech)