การติดเชื้อโควิดมากกว่า 1 สายพันธุ์ในคนเดียวนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศไทยเองก็เคยพบเชื้อ เดลตา-อัลฟา ในคนเดียวถึง 7 ราย ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ถอดรหัส “โอมิครอน” ทั่วโลก บอกอะไรบ้าง

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี เผยขั้นตอนการติดตามการติดเชื้อผสมระหว่างสายพันธุ์ “โอมิครอน-เดลตา” ด้วยการใช้เครื่องตรวจถอดรหัสพันธุกรรมที่สามารถถอดรหัสชิ้นส่วนจีโนมได้ยาวครอบคลุมการตรวจสอบแยกแยะสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา-2019 ได้มากกว่าหนึ่งสายพันธุ์ หรือแม้กระทั่งการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดียวกันแต่เป็นไวรัสลูกผสม (Hybrid)

...

แม้ข้อมูลถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าพบเชื้อโคโรนาไวรัส-2019 แบบลูกผสม (Hybrid) แต่ก็ไม่ควรวางใจการกลายพันธุ์ของเชื้อแต่ละสายพันธุ์ โดยเฉพาะ "โอมิครอน B.1.1.529" ที่มีรายงานว่าสามารถดึงเอาชิ้นส่วนจีโนมของโรคหวัดสายพันธุ์ HCoV-229E เข้ามาไว้ในสายพันธุกรรมของโอมิครอนเองได้

การดึงสายรหัสพันธุกรรมของโรคหวัด (Common Cold) เข้ามาไว้ในสายพันธุกรรมของโอมิครอน พบชิ้นส่วนจีโนมที่เรียกว่า ins214EPE ซึ่งมีกรดอะมิโน 3 ตัว คือ “กรดกลูตามิก-โปรลีน-กรดกรูตามิก” ที่ต่างจากเชื้อไวรัสโคโรนาไวรัส-2019 ดั้งเดิม

ทางเพจศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี อธิบายว่า

“Human coronaviruses” สายพันธุ์ “HCoV-229E” เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคไข้หวัดหรือ “common cold” จึงคาดกันว่าอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ “โอมิครอน” มีการระบาดอย่างรวดเร็ว แต่มีอาการไม่รุนแรง (ต่างจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อื่นที่มักจะมีอาการรุนแรง) อันเป็นคุณลักษณะเด่นของ “Human coronaviruses” สายพันธุ์ “HCoV-229E”

จากการตรวจรหัสพันธุกรรมของบรรดาไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อื่น เช่น เดลตา อัลฟา เบตา แกมมา มิว แลมบ์ดา ที่เก็บไวรัสฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" กว่า 6 ล้านตัวอย่าง ยังไม่พบพฤติกรรมการดึงชิ้นส่วนจีโนมของไวรัสสายพันธุ์อื่นเข้ามาไว้ในจีโนมตัวเอง

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ศูนย์จีโนมฯ ต้องติดตาม “โอมิครอน” ว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม กับ “เดลตา” ซึ่งปัจจุบันครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกอยู่ในขณะนี้

...

สรุปแล้วหาก “โอมิครอน” พยายามดึงพันธุกรรมของ “เดลตา” เข้ามาเป็นเชื้อลูกผสมตัวใหม่ อาจส่งผลต่อรูปแบบการระบาด โดยคาดเดาไม่ได้ว่าจะระบาดเร็วขึ้นหรือช้าลง และอาการจะรุนแรงขึ้นหรืออ่อนลง ต้องติดตามต่อไป

ที่มา : Center for Medical Genomics