การค้นพบที่ว่า สัตว์เลี้ยงสามารถเยียวยาจิตใจของมนุษย์ได้มีมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์แล้ว แม้จะไม่ได้มีการบันทึกเป็นหลักฐานไว้อย่างชัดเจนว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยใด เท่าที่พอสืบค้นได้ ก็เห็นจะเป็นสมัยกรีกโบราณ
Greek reporter รายงานไว้ว่า ชาวกรีกโบราณมีความผูกพันกับสัตว์และนิยมมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน ตั้งแต่สุนัขไปจนถึงงู เห็นได้จากภาพวาด งานเขียน และงานประติมากรรมรูปทรงสัตว์หลากหลายชนิด ในบรรดาประติมากรรมยุคกรีกที่มีมากมาย มีบางชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับการเยียวยาความเจ็บป่วย นั่นคือรูปปั้นโลหะสำริดรูปทรงสุนัขที่กำลังแลบลิ้น ที่เชื่อว่าถูกปั้นขึ้นเพื่อสักการบูชาเทพเจ้าแห่งการเยียวยารักษา นามว่า Asklepios เนื่องจากผู้คนสังเกตเห็นถึงความสามารถของสุนัขที่เยียวยารักษาบาดแผลได้ด้วยน้ำลายของพวกมันเอง
การศึกษา “รากฐานแห่งสัตว์บำบัด” มีปรากฏมาอย่างต่อเนื่อง งานศึกษาที่ชื่อว่า Psychiatric Assistance Dog Use for People Living With Mental Health Disorders ได้สำรวจผู้ป่วยในประเทศออสเตรีย จำนวน 200 คนที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคเครียดจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) และพบว่า กว่า 94% มีอาการน้อยลง และรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้คลุกคลีกับสุนัขบำบัด
...
การศึกษาของ E. Paul Chemiack จาก Miller School of Medicine, University of Miami ทำการศึกษากลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านอารมณ์จำนวน 144 ราย ให้ทำกิจกรรมอาบน้ำ ให้อาหาร ตัดขนให้สุนัขและแมว 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่า กลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงมีคะแนนกลุ่มอาการทางจิตใจ (psychological symptoms) ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัดอย่างชัดเจน
ทำให้ศาสตร์ของการใช้สัตว์บำบัด หรือ Animal Assistance Therapy กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเยียวยาร่างกายและจิตใจของคนทั่วโลก และถูกใช้มาสักพักแล้วในต่างประเทศ จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
เมื่อโลกรวมทั้งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ การใช้สัตว์เลี้ยงบำบัดเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้บำบัดผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ที่มีมากกว่า 55 ล้านคนทั่วโลก โดยมีการนำสุนัขมาใช้บำบัดผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และพบว่าสามารถลดความก้าวร้าวของผู้ป่วยลงได้มาก ทำให้จิตใจสงบ และมีอารมณ์ที่ดีขึ้น
และเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จากสัตว์เลี้ยงธรรมดาๆ มีการพัฒนา “หุ่นยนต์หมา” เพื่อนำมาใช้เยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โดยการคิดค้นและผลิต “หุ่นยนต์สุนัข” ของบริษัท ทอมบอต
ทอม สตีเวนส์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท มีประสบการณ์จากแม่ที่ป่วยด้วยอัลไซเมอร์
เขาเล่าว่า ตั้งแต่แม่เริ่มจำอะไรไม่ได้ ก็มีเรื่องหนักหนาสารพัดเกี่ยวกับการดูแลแม่ แต่ที่หนักที่สุดคือ การที่เขาต้องพรากเจ้า “โกลเดนแบร์” ลูกสุนัขวัยสองขวบที่เป็นเพื่อนสี่ขาที่ดีที่สุดในการเยียวยาจิตใจของแม่ออกจากบ้านในวันที่แม่เริ่มอาการหนักขึ้น แต่ก็พบว่า การแยกเพื่อนสี่ขาจากคนชราที่ป่วยด้วยอัลไซเมอร์ไม่ได้มีผลดีอะไรเลย เพราะหมาก็เหงา คนป่วยก็ไม่ได้อาการดีขึ้น ที่สำคัญคือ แม่ของเขามีอาการซึมเศร้าหนักกว่าเดิมเมื่อเจ้าโกลเดนแบร์จากไป
จากจุดเริ่มต้นที่ทอมต้องการสร้างตัวแทนโกลเดนแบร์มาช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยสูงวัยที่มีอาการเหมือนกับแม่ของเขาอีกนับล้านๆคน
ทอมบอตได้เริ่มทำวิจัยร่วมกับนักบำบัดจิตใจ และพบว่าสุนัขช่วยรักษาอาการผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมได้จริง แต่ปัญหาก็คือการดูแลสุนัขที่มีชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งเรื่องอาหารการกิน ด้านสุขอนามัย และอารมณ์ของสัตว์เลี้ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาก็ทำให้คนป่วยไม่สามารถรับมือได้ รวมทั้งคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ขนสุนัข
...
เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ เจนนี่ (JEN NIE) หุ่นยนต์ลูกสุนัขสายพันธุ์ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) อายุ 12 สัปดาห์ ถือกำเนิดขึ้นบนโลก ด้วยฝีมือนวัตกรของบริษัท Tombot ที่ร่วมกับลีเจนเดอรี (Legendary) สตูดิโอแอนิเมชัน โดยมีชื่อเต็มๆว่า “TOMBOT JENNIE” โรบอต มะหมาตัวแรกของบริษัทเพื่อเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์
เจนนี่ถูกนำไปทดลองใช้งานจริงครั้งแรกที่สถานบริบาลคนชราในเมืองธาวแซนด์ โอ๊กส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และพบว่าเธอสามารถช่วยฟื้นฟูผู้สูงวัยที่ทั้งป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ และกลุ่มที่มีอาการซึมเศร้าได้ดีทีเดียวซึ่งนอกจากเยียวยาผู้สูง อายุและผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมแล้ว เจนนี่ยังช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคเครียด ภาวะวิตกกังวลในเด็ก รวมไปถึงโรคซึมเศร้า และความรู้สึกเหงาโดดเดี่ยว ที่ทุกวันนี้สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยโรคเครียดราว 35 ล้านคน และมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะความจำเสื่อมประมาณ 50 ล้านคน
เจนนี่ถือว่าเป็นหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงที่แสดงอารมณ์ได้เหมือนจริงที่สุดนับตั้งแต่มีการประดิษฐ์โรบอตแนวสัตว์เลี้ยง โครงสร้างทั้งภายในและภายนอกเหมือนลูกสุนัขที่มีชีวิตจริงๆ ผิวด้านนอกติดตั้งเซ็นเซอร์แบบสัมผัสนับร้อยจุด ทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงสามารถตอบสนองและแสดงอารมณ์เมื่อได้รับการสัมผัสจากมนุษย์
เจนนี่ สามารถขยับหัว กระดิกหู ส่ายหาง ไม่ต่างจากสุนัขจริงๆ ทั้งยังมีระบบสั่งการให้เคลื่อนไหวด้วยการสั่งการจากเสียง สนองตอบด้วย
การส่งเสียงร้องได้เหมือนลูกสุนัขจริง จนได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 สิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2020 (The Best Inventions of 2020 l 100 innovations changing how we live) ที่จัดโดย TIME แมกกาซีน
การเลี้ยงเจนนี่ไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารเม็ด ชาร์จแบตเหมือนโทรศัพท์ ปฏิบัติการได้ต่อเนื่องหนึ่งวันโดยทำงานผ่านระบบการควบคุมหุ่นยนต์ร่วมกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ท โฟน ซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งภายในตัวเจนนี่สามารถอัปเดตข้อมูลใหม่ๆจากทอมบอตได้เช่นเดียวกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์
...
แต่ที่ดีไปกว่านั้นคือ เจนนี่ สามารถเป็นเพื่อนทดแทนความเหงา เศร้า และความจำที่หายไปของ
ผู้สูงอายุได้ดีกว่าการที่มีมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงจริงๆอยู่ในบ้านเสียอีก.