Sustainable Tourism หรือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กลายเป็นเทรนด์ที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด Booking.com หนึ่งในบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการเดินทางระดับโลกได้เปิดตัวสัญลักษณ์ “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” หรือป้ายกำกับที่พักรักษ์โลก เป็นครั้งแรกในวงการท่องเที่ยว เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักเดินทางที่มองหาที่พักสำหรับการเดินทางอย่างยั่งยืน ที่ถือว่าเป็นวิถีใหม่สำหรับการท่องเที่ยวนับจากนี้

สัญลักษณ์ใหม่นี้มีขึ้นเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการรับรองความน่าเชื่อถือของที่พักรักษ์โลกที่มีเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยการจะได้รับตราสัญลักษณ์ที่ว่านี้ ที่พักจะต้องดำเนินธุรกิจตามแนวทางด้านความยั่งยืนที่ส่งผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างแท้จริง

ผลการศึกษาล่าสุดที่จัดทำโดย EY Parthenon และ Booking. com พบว่า แม้กลุ่มผู้ให้บริการที่พักจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 264 ล้านเมตริกตันต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดต่อปีในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ผู้ให้บริการที่พักยังมีโอกาสที่จะช่วยให้การเดินทางและการท่องเที่ยวมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งผู้ให้บริการที่พักหลายแห่งได้เริ่มใช้มาตรการและวิธีการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กันแล้ว

...

Booking.com แพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ที่แพร่หลายระดับโลกมองเห็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะแสดงให้ผู้เดินทางเห็นถึงความพยายามของที่พักในการดำเนินกิจการบนเส้นทางของการสร้างความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้เดินทางค้นพบที่พักรักษ์โลกได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

หลังจากที่มีการสำรวจความต้องการของผู้เดินทางทั่วโลก 81% และ 98% ของผู้เดินทางชาวไทย ที่ระบุว่าต้องการพักในที่พักแบบรักษ์โลกมากขึ้นในปี 2022 โดย 73% ของผู้เดินทางทั่วโลก และ 83% ของผู้เดินทางชาวไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะเลือกที่พักที่มีการปรับใช้แนวทางเพื่อความยั่งยืน ซึ่งถือว่าเป็นทั้งเทรนด์และการกระตุ้นให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการเห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า “ความยั่งยืน” เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นวิถีใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยว

สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาว่าที่พักใดควรได้รับสัญลักษณ์รักษ์โลกหรือยั่งยืน จะดูองค์ประกอบหลากหลาย ตั้งแต่การจัดการขยะ การเลือกใช้พลังงานสะอาดที่หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการน้ำ การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น และการปกป้องธรรมชาติ

อธิบายให้เห็นภาพชัดเจน ก็เช่น ที่พักมีการ เลิกใช้เครื่องใช้ในห้องน้ำที่บรรจุภัณฑ์ทำจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED เพื่อใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนแบบ 100% หรือสนับสนุนเงินจำนวนหนึ่งที่ได้จากกำไรให้กลับไปพัฒนาชุมชน และหมุนเวียนในโครงการเพื่อการอนุรักษ์ในท้องถิ่น ฯลฯ

มาริแอน กิบเบิลส์ (Marianne Gybels) ผอ.สายงานความยั่งยืน ของ Booking.com บอกว่า การสร้างอุตสาหกรรมการเดินทางท่องเที่ยวที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงจำเป็นต้องใช้เวลา ความร่วมมือจากทุกฝ่าย และความพยายามร่วมกัน ซึ่งความยั่งยืนดังกล่าวจะรุดหน้าไปได้ ก็ด้วยการสร้าง สรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนของพันธมิตร และความร่วมมือจากทุกฝ่ายในอุตสาหกรรม ซึ่งการมีตราสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความยั่งยืนนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ที่พักต่างๆเดินหน้าสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมากกว่าที่เคย

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้รายงานด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2564 จาก Booking.com ระบุว่า “ผลกระทบจากการแพร่ระบาด” ช่วยส่งเสริมความตั้งใจในการเดินทางอย่างยั่งยืน และนำสู่การลงมือทำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง ข้อมูลเชิงลึก

จากความคิดเห็นของผู้เดินทางกว่า 29,000 คนใน 30 ประเทศ ระบุชัดว่า การแพร่ระบาดได้กระตุ้นให้ผู้เดินทางมุ่งมั่นที่จะเริ่มต้นการเดินทางท่องเที่ยวในวิถียั่งยืน โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย พบว่า 94% ของผู้เดินทางชาวไทยคิดว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนนั้นสำคัญอย่างมาก 78% ชี้ว่าการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลให้ต้องการการเดินทางอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในอนาคต 66% ยอมรับว่าการแพร่ระบาดได้เปลี่ยนทัศนคติให้พวกเขาลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชีวิตประจำวัน อาทิ การรีไซเคิล การลดขยะอาหาร การลดการใช้พลังงาน เช่น ปิดแอร์ และปิดไฟในห้องพักในเวลาที่ออกไปข้างนอกและ 85% ต้องการใช้ตัวเลือกในการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ

...

ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะเป็นการท่องเที่ยววิถีใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 และดิสรัปชันที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก.