หมอกจะเกิดเมื่ออุณหภูมิอากาศมีค่าเท่ากับอุณหภูมิจุดน้ำค้าง ทำให้อากาศเกิดการอิ่มตัว จากนั้นก็กลั่นตัวเป็นละอองน้ำขนาดเล็ก ทว่าหมอกก็อาจทำให้การเดินทางไม่ว่าจะทางน้ำ ทางอากาศ หรือทางบก เป็นอันตราย หากหมอกลงจัด ทั้งมนุษย์และอุปกรณ์เซ็นเซอร์ก็ตรวจจับวัตถุได้ยาก
ความท้าทายนี้ทำให้นักวิจัยของศูนย์ทดลองแห่งชาติซานเดีย ในสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับนักวิจัยจากองค์การนาซาที่ทำงานในโครงการศึกษาเทคโนโลยีการบินขั้นสูง และบริษัทเซ็นเซอร์เชิงอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ได้พัฒนาตัวเซ็นเซอร์ในหมอกเพื่อตรวจจับและคาดคะเนระยะทางของวัตถุ โดยทีมเผยว่า ได้ทดสอบใช้ 64 หัวฉีด ให้กระจายส่วนผสมของน้ำและเกลือออกไปในโรงปฏิบัติการด้านหมอก เมื่อความชื้นก่อตัวและเกิดหมอกหนาขึ้น คนที่อยู่ภายในโรงปฏิบัติการจะมองไม่เห็นผนัง เพดาน หรือทางเข้า เพราะละอองจะลอยบดบังจนหมด ทีมได้วัดคุณสมบัติของหมอกเพื่อทำความเข้าใจว่าหมอกก่อตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างไร จนกระทั่งกำหนดลักษณะเฉพาะของหมอกที่ผลิตในโรงปฏิบัติการได้อย่างสมบูรณ์ และผลิตหมอกที่คล้ายกับหมอกตามธรรมชาติได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกในวันต่อๆมา จากนั้นก็ติดตั้งโดรนแบบอยู่กับที่ในโรงปฏิบัติการแล้วก็ทดสอบเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อดูว่าจะรับรู้เสียงของโดรนในหมอกได้ดีเพียงใด
ทีมเผยว่า การทดสอบประสิทธิภาพกล้องอินฟราเรดแบบคลื่นยาว คลื่นกลาง คลื่นสั้น และไลดาร์ที่ใช้แสงตรวจหาและคาดการณ์ระยะทางของวัตถุ ผลวิจัยพบว่า กล้องอินฟราเรดคลื่นยาวตรวจจับและจำแนกคนเดินรวมถึงวัตถุอื่นๆในหมอกได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเทคโนโลยีนี้อาจช่วยให้โดรนบินอัตโนมัติหรือแท็กซี่ไร้คนขับสามารถเคลื่อนไหวในหมอกได้อย่างปลอดภัยในอนาคต.