หลังจากบริษัทยายักษ์ใหญ่ Merck & Co เปิดตัวยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์รวมทั้งเดลตาไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ โดยระบุว่า โมลนูพิราเวียร์เป็นยาเม็ดที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ให้ไม่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตได้ถึง 50% โดยยาจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากผู้ป่วยได้รับยาในช่วงแรกของการได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19

ล่าสุด บริษัทไฟเซอร์ สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยผลการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกของยารักษาโรคโควิด-19 โดยระบุว่า สามารถลดความเสี่ยงการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตของผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยงสูงได้ถึง 89%

ยาดังกล่าวมีชื่อว่า “แพ็กซ์โลวิด” (Paxlovid) ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคโควิด-19 ทั้งที่ติดเชื้อและเริ่มแสดงอาการป่วย ถือเป็นยาต้านไวรัสที่รักษาโควิด-19 ชนิดล่าสุดที่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะ

แพ็กซ์โลวิดเป็นยาต้านไวรัสชนิดเม็ด ถูกออกแบบขึ้นมาให้ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (protease) ที่เชื้อไวรัสโควิดจำเป็นต้องใช้ในการเพิ่มจำนวน และเมื่อใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสชนิดเม็ดที่เรียกว่า “ริโทนาเวียร์” (ritonavir) ในโดสที่ต่ำ ก็จะทำให้แพ็กซ์โลวิดอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น

...

กลไกการรักษาแบบผสมผสานของแพ็กซ์โลวิดแตกต่างกันเล็กน้อยกับยาเม็ดต้านโควิดของบริษัทเมอร์คชาร์ปแอนด์โดม (Merck Sharp and Dohme หรือ MSD) ซึ่งใช้กลไกทำให้เกิดความผิดปกติในรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด

อัลเบิร์ต บัวร์ลา ประธานบริษัทไฟเซอร์ บอกว่า แพ็กซ์โลวิดมีศักยภาพในการรักษาชีวิตคนไข้ ลดความรุนแรงของการติดเชื้อโรคโควิด-19 และช่วยลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 9 ใน 10 ราย โดยการใช้ยาชนิดนี้ ผู้ป่วยต้องรับประทานยาครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน

“แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่าวัคซีนคือวิธีการดีที่สุดในการควบคุมการระบาดของโควิด แต่ขณะเดียวกันก็มีความต้องการวิธีการรักษาโรคนี้ที่ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยสามารถรักษาด้วยตัวเองที่บ้านได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง” ประธานบริษัทไฟเซอร์บอก

ข้อมูลจากการทดลองในคนไข้ความเสี่ยงสูง คือ คนแก่ และผู้มีโรคประจำตัว จำนวน 1,219 คน ที่เพิ่งติดโควิด พบว่า ผู้ได้รับยาแพ็กซ์โลวิดมีอัตราป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพียงแค่ 0.8% เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ได้รับยาหลอกที่อัตราดังกล่าวอยู่ที่ 7%

คนไข้เหล่านี้ได้รับยาภายใน 3 วันหลังจากเริ่มแสดงอาการป่วยของโรคโควิด-19 และพบว่า มีคนไข้ที่ได้รับยาหลอกเสียชีวิต 7 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับยาแพ็กซ์โลวิด และหากให้ยารักษาภายใน 5 วันนับแต่วันที่เริ่มแสดงอาการป่วย กลุ่มผู้ได้รับยา แพ็กซ์โลวิดจะมีอัตราการเข้าโรงพยาบาลอยู่ที่ 1% ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ผู้ได้รับยาหลอกจะมีอัตราการเข้าโรงพยาบาล 6.7% และเสียชีวิต 10 คน

ตามคำแนะนำของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลอิสระและในการปรึกษาหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ไฟเซอร์จะยุติการลงทะเบียนเข้าร่วมการศึกษาเพิ่มเติมเนื่องจากประสิทธิภาพอย่างล้นหลามที่แสดงให้เห็นในผลลัพธ์เหล่านี้ และแผนการที่จะส่งข้อมูลโดยเป็นส่วนหนึ่งของยื่นเรื่องต่อไปยัง US FDA for Emergency Use Authorization (EUA) โดยเร็วที่สุด

“ความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นตัวเปลี่ยนเกมอย่างแท้จริงในความพยายามระดับโลกที่จะหยุดยั้งความหายนะของโรคระบาดนี้ ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ายาต้านไวรัสแบบกินชนิดนี้ หากได้รับการอนุมัติหรือได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล มีศักยภาพในการช่วยชีวิตผู้ป่วย จะลดความรุนแรงของการติดเชื้อ COVID-19 และลดการรักษาในโรงพยาบาลลงได้มาก” อัลเบิร์ต บัวร์ลา ย้ำ

...

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไฟเซอร์ ยังบอกด้วยว่า ผลกระทบทั่วโลกอย่างต่อเนื่องของ COVID-19 ทำให้การคิดค้นของไฟเซอร์ยังคงมุ่งเน้นไปที่วิทยาศาสตร์และปฏิบัติตามความรับผิดชอบในการช่วยเหลือระบบการดูแลสุขภาพของสถาบันทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็รับประกันการเข้าถึงผู้คนทุกหนทุกแห่งอย่างเท่าเทียม

หากได้รับการอนุมัติหรือได้รับอนุญาตจาก FDA แพ็กซ์โลวิดจะเป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานชนิดแรกที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อยับยั้งโปรตีเอส SARS-CoV-2-3CL ที่เชื้อไวรัสโควิดจำเป็นต้องใช้ในการเพิ่มจำนวนไวรัส

Mikael Dolsten ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์และประธานฝ่ายวิจัย พัฒนาและการแพทย์ทั่วโลกของไฟเซอร์ กล่าวด้วยความดีใจว่า ชาว Pfizer รู้สึกภาคภูมิใจในนักวิทยาศาสตร์ของเราที่สามารถออกแบบและพัฒนาโมเลกุลนี้ โดยทุกคนทำงานอย่างเร่งด่วนที่สุดเพื่อช่วยลดผลกระทบร้ายแรงของโรคนี้ และจากการทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัยการวิเคราะห์อาการไม่พึงประสงค์ พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงน้อยกว่าในกลุ่มผู้ที่ได้รับยาแพ็กซ์โลวิดกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก.