เปลี่ยน ‘Mindset’ ของรัฐบาล แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว หากต้องการทำให้แนวคิดข้างต้นประสบผลสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยน “Mindset” หรือกระบวนการทางความคิดของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐใหม่

“เราต้องเปลี่ยน mindset ของ ก.พ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) รวมถึงสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง คือในหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านี้ จะคิดถึงเรื่องการตัดเงิน การตัดงบ แต่ไม่ได้คิดถึงความจำเป็น แม้ว่าความจำเป็นจะมีอย่างมหาศาล แต่เขาไม่ฟังหรอก เขามีหน้าที่ตัดเฉยๆ

ดังนั้น หากเราทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณเข้าใจในสภาพความเป็นจริง ก็คิดว่าน่าจะสามารถพูดจากันได้”

สำหรับเรื่องของงบประมาณนั้นนับเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องพูดกันต่อ

ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทย แต่จำเป็นต้องทำให้ประเทศเห็นปัญหาร่วมกันว่า ในโรคโรคหนึ่ง หรือในโรคเดียวกันนั้น หากเพิ่งเกิดขึ้นจะรักษาได้รวดเร็ว แต่หากเป็นมากแล้วจะรักษายาก มีความซับซ้อน และใช้งบประมาณมหาศาล

...

ดังนั้น เวลาที่จะพูดให้ประชาชนตระหนักรู้ จำเป็นต้องพูดความจริงว่าประเทศกำลังประสบปัญหาอะไรอยู่ ฉะนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องเลิกพูดว่า ขณะนี้ให้สิทธิประโยชน์ตรงนั้นตรงนี้เพิ่มขึ้น

แต่รัฐบาล กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข หรือแม้แต่ สปสช.ต้องออกมาพูดด้วยเสียงเดียวกันว่าตัวเลขจริงๆเป็นอย่างไร คนไข้ที่เป็นโรคแล้วเข้าโรงพยาบาลรัฐ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงๆ โดยไม่คิดกำไรเป็นเท่าใด

“ต้องพูดความเป็นจริงกันว่าเราใช้งบประมาณไปเท่าใด มีแพทย์มีพยาบาลกี่คนมาช่วยในการรักษาผู้ป่วยในห้องไอซียู หรือผ่าตัดใหญ่เท่าใด คือชี้ให้เห็นว่าเราใช้กำลังคน กำลังเงิน เครื่องมือ อุปกรณ์ ทรัพยากรต่างๆ ไปเท่าใด เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเห็นและต้องร่วมกันรับรู้ว่า ถ้าเขาไม่ดูแลตัวเอง หรือไม่ปฏิบัติตัวให้ดี ระบบสาธารณสุขทั่วประเทศก็จะล่ม”

ระบบสาธารณสุขของชาติล่ม ‘คนจน’ ก้มหน้ารับเคราะห์กรรม

ระบบสาธารณสุขทั่วประเทศล่มแล้วเป็นอย่างไร?

เมื่อระบบสาธารณสุขของประเทศล่ม ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับคนจน ซึ่งเป็นคนด้อยโอกาสเป็นอันดับแรก

“ถ้าประชาชนไม่ดูแลตัวเองเช่นนี้ เมื่อระบบล่มคนจนก็จะตายก่อน ซึ่งจริงๆแล้วคนจนหรือคนด้อยโอกาสคือกลุ่มคนที่ควรได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก”

แน่นอนว่าเมื่อเขาช่วย เหลือตัวเองไม่ได้ เราก็ต้องให้เขาหมด แต่หากเขาเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ เราก็จะให้เขาเฉพาะในสิ่งที่เขาขาดแคลน และที่ต้องเข้าใจต่อก็คือไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับในระดับเดียวกัน

อย่างคนขี่รถเบนซ์มาแล้วใช้สิทธิ 30 บาท ก็เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ เพราะเขาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงแพทย์และการรักษาได้โดยกลไกต่างๆ อาจจะไม่ได้ยืนต่อแถวเอง หรือมีความสนิทสนมเกรงอกเกรงใจกัน ดังนั้นอีกประเด็นที่ต้องพูดกันต่อคือ “ความเสียสละของคนไทย” ซึ่งก็คือการรู้ว่าตัวเองพออยู่ได้ และยังมีคนอื่นที่ลำบากมากกว่าเราอีกเป็น 10 ล้านคน เราก็ไม่ควรเอาตรงนี้เพื่อที่จะแบ่งไปให้คนอื่น

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยน Mindset ของคนไทยทั้งประเทศด้วย

แพทย์ที่รักษาคนไข้ไม่ได้จะรู้สึกเป็นทุกข์ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยากลำบากไม่ได้ หนำซ้ำตัวเองยังดูแลครอบครัวของตัวเองไม่ได้ด้วย ดังนั้นคนไข้เห็นแพทย์ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าแพทย์ก็มีความทุกข์ ขณะเดียวกัน แพทย์ย่อมเข้าใจว่าคนไข้ที่เดินมาหานั้นมีความทุกข์มหาศาล

“ถ้ามีความเห็นอกเห็นใจกันว่าต้องอยู่ได้ และต้องยอมรับว่าขณะนี้เราใช้เงินก้อนเดียวกัน ดังนั้น ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องพูดความจริง ไม่ใช่มาด่ากัน เพราะขณะนี้ค่าใช้จ่ายมันมหาศาลมาก

ถ้าเราเปลี่ยนการด่า การหาแพะ หาตัวผู้ร้าย มาเป็นการเข้าใจปัญหาอันหนึ่งอันเดียวกันที่เกิดขึ้นจริงให้ทุกคนรับทราบ ปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขเลย”

เรารักษาทุกโรคไม่ได้–รื้อใหญ่สิทธิประโยชน์

การรักษาทุกโรคอาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน

สิ่งที่ต้องคิดต่อจากนี้ก็คือยาที่จะนำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพในแต่ละโรคนั้น ควรจะใช้ยาอะไรจึงจะมีความเหมาะสม นั่นเพราะปัจจุบันมีตำรับยาเป็นจำนวนมาก มีทั้งยาที่สามารถ “ชะลอ” โรคได้จริงๆ และยาที่ทำหน้าที่เพียง “บรรเทา” อาการเท่านั้น

...

ยาที่ชะลอโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆต้องมาเป็นเบอร์ 1 แต่การใช้ยาในปัจจุบันเรากลับใช้ยาบรรเทาอาการ ยกตัวอย่างโรคมะเร็ง ซึ่งต้องใช้ยาให้สอดคล้องกับยีน อย่างการรักษามะเร็งปอด หากใช้ยาตามยีนจะมีมูลค่ายา 1 ล้านบาท เราก็ควรกลับมาดูแล้วว่าใน 1 ล้านบาทนั้น ทำให้คนไข้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อได้กี่ปี เราจำเป็นต้องมีข้อมูลตรงนี้ ไม่ใช่อยู่ได้นานแต่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลตลอดเวลา

เราต้องคิดนอกกรอบว่ายาที่เอามาใช้ในปัจจุบันมันเหมาะสมและจำเป็นหรือไม่ เราเข้าใจว่าทุกคนอยากให้คนรัก คนในครอบครัว หรือตัวเองมีชีวิตที่ยืนยาว แต่การจะยืดชีวิตคนออกไปนั้นเราต้องดูว่าเขาเหล่านั้นสามารถอยู่ต่อได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี หรือเป็นเพียงการยืดชีวิตเพื่อให้เขาทุกข์ทรมานต่อไป

“เราไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่มีเงินแล้วจะปล่อยให้ตาย ไม่ใช่ แต่นี่เป็นหลักปฏิบัติว่าในเมื่อเราใช้เงินก้อนเดียวกัน เราก็ต้องตายด้วยกัน แต่คุณภาพชีวิตต้องดีไปจนถึงวันเสียชีวิต แต่หากคุณเปิด google ดูแล้วเจอว่าปัจจุบันมีนวัตกรรมการรักษาขนาดนี้แล้ว นั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องช่วยตัวเอง เราช่วยไม่ได้ ประเด็นก็คือต้องมีการทบทวนตำรับยาใหม่ทั้งหมด”

มากไปกว่านั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อไปก็คือการกลับมาทบทวนชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพใหม่ทั้งหมด

...

การมุ่งแต่เพิ่มสิทธิประโยชน์ขึ้นเรื่อยๆ ไม่สอดคล้องกับความจริงของประเทศ มันคือการสร้างผลงานเท่านั้น แต่การสร้างผลงานเหล่านั้นกลับสร้างภาระมากขึ้นๆ เพราะการให้สิทธิประโยชน์โดยที่ไม่มีเงินมา ผลกระทบก็จะตกอยู่กับผู้รักษา

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนไม่กล้าแตะ เพราะเกี่ยวข้องกับคะแนนเสียง ฐานทางการเมือง แต่ถ้าไม่ได้มองเรื่องนี้และพูดกันด้วยข้อเท็จจริง

กระทรวงสาธารณสุขต้องเอาความจริงของแต่ละโรคมาตีแผ่ เช่น ผ่าไส้ติ่ง ในระดับปกติอยู่ที่เท่าใด ถ้าผ่าไส้ติ่งที่แตกแล้วอยู่ที่เท่าใด และความต้องการความพิเศษในการรักษา มันลามไปถึงแพทย์ที่ใช้ทุนในต่างจังหวัด และมีภาระงานมาก ถ้าเขาทำคลอดพลาดหรือผ่าไส้ติ่งแตกขึ้นมา คำถามแรกที่ศาลถามก็คือคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่

ต้องเปลี่ยนเรื่องความเข้าใจของประชาชน และความเข้าใจทางด้านกฎหมาย คือถ้าเราต้องการให้แพทย์ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญทำการรักษาในทุกตารางเมตรของประเทศไทย คุณจะต้องรออีกนานมากจึงจะมีแพทย์ในระดับนั้นๆ

ขอขอบคุณวารสาร Hfocus เรียบเรียง สรุปบทสัมภาษณ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา.

หมอดื้อ