ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าจากสวนสัตว์ซินซินเนติ ในสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยสหพันธรัฐมาตูโกรสซู ในบราซิล รวมถึงองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Mata Ciliar ได้พัฒนาโปรแกรมผสมเทียมสำหรับสัตว์ตระกูลแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของซีกโลกตะวันตกมาหลายปี ซึ่งในปี พ.ศ.2562 นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการให้ เบียงก้า แม่เสือจากัวร์กำเนิดลูกตัวแรกจากวิธีผสมเทียม แม้ว่ามันจะกินลูกของตัวเองหลังคลอดออกมาได้ 2 วัน ก็นับว่าเป็นทิศทางที่ก้าวหน้าในการอนุรักษ์สายพันธุ์เสือจากัวร์
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวบราซิลและชาวอเมริกัน ได้ทดลองผสมเทียมให้แม่เสือเบียงก้าเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี เพื่อให้ตั้งครรภ์โดยใช้น้ำอสุจิที่แช่แข็ง นักวิทยาศาสตร์เผยว่าน้ำอสุจิที่แช่แข็งจะขนส่งได้ง่าย เหมาะต่อการช่วยตอบสนองความหลากหลายทางพันธุกรรมของเสือจากัวร์ที่มีประชากรแยกส่วนมากขึ้น เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันถูกบุกรุกคุกคาม เช่นกรณีเสือจากัวร์บางตัวบาดเจ็บสาหัสจากไฟไหม้ในป่าแพนทานัลของบราซิลเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ต้องขนส่งไปยังสถานพยาบาลเฉพาะทาง ขณะที่เสือตัวอื่นๆ เสียชีวิตหรือพลัดถิ่นไป ซึ่งการไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ก็ส่งผลถึงการหาอาหาร ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเสือจากัวร์เกือบ 1,500 ตัวถูกฆ่าตายด้วยไฟป่าและสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยในแถบอะเมซอนของบราซิลตั้งแต่ปี พ.ศ.2559-2562
...
นักวิทยาศาสตร์เผยว่าวิธีผสมเทียมด้วยอสุจิแช่แข็งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับความหลากหลายทางพันธุกรรม และเป็นการมุ่งสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นในการเพิ่มจำนวนประชากรเสือจากัวร์ให้มีความเสถียร.