ส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมซึ่งตั้งอยู่ที่จุดตัดทางภูมิศาสตร์ของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกอย่างเขตปกครองตนเองซินเจียง อุยกูร์ ถือเป็นทางแยกหลักของการแลกเปลี่ยนผู้คน วัฒนธรรม เกษตรกรรม และภาษาของเอเชีย ซึ่งตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ก็มีการค้นพบซากมัมมี่มนุษย์หลายร้อยซาก มีอายุตั้งแต่ 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชจนถึง 200 ปีในยุคปีปัจจุบัน ในแอ่งทาริมของภูมิภาคดังกล่าว มัมมี่เหล่านี้ถูกฝังอยู่ในโลงเรือในทะเลทราย กลายเป็นที่สงสัยของนักวิจัยมานานและก่อเกิดทฤษฎีต่างๆเกี่ยวกับต้นกำเนิดอันลึกลับของมัมมี่กลุ่มนี้

ล่าสุดทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยจี๋หลิน ในจีน, สถาบันมักซ์ พลังค์ ในเยอรมนี, มหาวิทยาลัยโซลแห่งเกาหลีใต้และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันไขปริศนาโดยสร้างและวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของมัมมี่ในแอ่งทาริม 13 ซากที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุราว 2,100-1,700 ปีก่อนคริสตกาล พร้อมกับ 5 บุคคลที่มีอายุ 3,000-2,800 ปีก่อนคริสตกาลจากแอ่งจุงกาเรียนที่อยู่ใกล้เคียง ทีมวิจัยพบว่ามัมมี่ในแอ่งทาริมไม่ใช่ผู้มาใหม่ในภูมิภาคนี้เลย แต่ดูเหมือนจะเป็นทายาทสายตรงของมนุษย์ยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) ที่เคยแพร่หลายแต่ส่วนใหญ่สูญหายไปเมื่อสิ้นสุดยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย ผู้คนกลุ่มนี้คือชาวยูเรเชียตอนเหนือยุคโบราณ (Ancient North Eurasians-ANE) โดยจีโนมของพวกเขาหลงเหลือเพียงเศษเสี้ยวในคนยุคปัจจุบัน อีกทั้งมัมมี่ที่แอ่งทาริมก็ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการปะปนกับกลุ่มมนุษย์ยุคโฮโลซีนอื่นๆ

การสร้างต้นกำเนิดของมัมมี่ในแอ่งทาริมขึ้นใหม่ ส่งผลต่อความเข้าใจของนักวิจัยในภูมิภาคนี้ และเปิดหน้าต่างบานใหม่ของการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ในสมัยโบราณ ที่จะช่วยคลี่คลายประวัติศาสตร์การอพยพของมนุษย์ในที่ราบยูเรเซียนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น.

...