ปี 2019 เดอะนิวยอร์ก ไทม์ส ตีแผ่เรื่องราวของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในเมืองไทยว่า เป็นประเทศที่ครองแชมป์การตายจากมอเตอร์ไซค์ลำดับที่หนึ่งของโลก และมีสถิติการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนตามรายงานของ WHO เป็นอันดับที่สองของโลก รองจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม สถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบสุขและไม่มีกฎหมายคุ้มครอง อย่างประเทศลิเบียเท่านั้น
นิวยอร์ก ไทม์ส ระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลไทยจะให้คำปฏิญาณต่อองค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ.2558 ที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ.2563 แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ ประเทศไทยก็ยังห่างไกลจากการที่จะทำให้สัญญาที่ได้ให้ไว้เป็นจริงขึ้นได้
ยิ่งไปกว่านั้น ถนนในประเทศไทยยังถูกจัดอันดับให้เป็นถนนที่อันตรายที่สุด 10 อันดับแรกในโลก จากจำนวนการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุซึ่งสามารถป้องกันได้มากกว่า 20,000 รายต่อปี
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางหลวงที่มีการจราจรคับคั่งมักเกิดจากการที่รถยนต์ชนเข้ากับรถจักรยานยนต์จนทำให้ซากจากอุบัติเหตุเกลื่อนถนน ภาพหลังเกิดอุบัติเหตุอันน่าสยดสยองบนท้องถนนของเมืองไทยแบบนี้มักเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเศษซากยางฉีกขาด กันชนที่พังยับเยิน หรือแม้แต่รองเท้าแตะเปื้อนเลือด
...
ทั้งนี้ อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ครั้งเดียวอาจทำให้เกิดการตายหลายศพ เพราะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่จะเห็นภาพของทั้งครอบครัวซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาคันเดียวโดยมีพ่อเป็นคนขับ แม่ซ้อนพร้อมด้วยลูกเล็กๆอีกคนหรือสองคน
นี่คือภาพที่เราเห็นกันจนชินตา จนกลายเป็นความเคยชิน...!
เอฟเวอลิน เมอร์ฟี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุ จากองค์การอนามัยโลก บอกว่า สิ่งที่แน่ชัดในเมืองไทยก็คือถนนไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ถนนเลย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าในแต่ละปี ประชากรโลกราว 1.35 ล้านคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน และอีก 20 ถึง 50 ล้านคนได้รับบาดเจ็บหรือพิการจากอุบัติเหตุนั้น มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ในกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่เปราะบาง เช่น คนเดินเท้า ผู้ขับขี่รถจักรยาน หรือผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ และร้อยละ 93 ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของโลกเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง
สำหรับประเทศไทย การเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของโลกและมีถนนที่อันตรายที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นถนนที่เลวร้ายที่สุดในโลก
ศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล ผู้จัดการศูนย์ความเป็นเลิศ ThaiRAP คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในภาคีเครือข่ายโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่จักรยานยนต์ปลอดภัย ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจสภาพถนนในประเทศไทย มากกว่า 1,000 กิโลเมตร พบว่า 3 ใน 4 ของถนนในเมืองไทยเป็นถนนที่ไม่ปลอดภัยสำหรับการขับขี่รถจักรยานยนต์ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพผิวถนนที่เป็นบ่อ ขรุขระ มีหลุมลึกทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หรือแม้แต่การออกแบบเรขาคณิตของถนน การเข้าโค้ง การมองเห็น ส่วนใหญ่แล้วเป็นการออกแบบสำหรับรถยนต์มากกว่ารถจักรยานยนต์ ซึ่งมีระยะโค้ง ระยะเบรกแตกต่างจากรถยนต์นั่งธรรมดา
“การออกแบบถนนส่วนใหญ่มักเป็นการออกแบบให้กับรถยนต์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อังกฤษ หรืออเมริกา เพราะสัดส่วนปริมาณรถยนต์ในประเทศเหล่านั้นมีจำนวนมากกว่ารถจักรยานยนต์ แต่ในเมืองไทยสัดส่วนของรถจักรยานยนต์มีมากกว่า แต่ไม่มีถนนที่ออกแบบเพื่อรองรับ จึงเป็นเหตุให้กว่าครึ่งของการตายบนท้องถนนมาจากรถจักรยานยนต์”
...
นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เช่น การให้รถจักรยานยนต์วิ่งช่องซ้าย ขณะเดียวกัน รถบรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อ ก็วิ่งช่องซ้าย เรียกว่า รถใหญ่กับรถเล็กใช้ช่องทางเดียวกัน ทำให้เราได้ยินข่าวบ่อยๆว่ามอเตอร์ไซค์พุ่งเข้าใต้ท้องรถสิบล้อ เป็นสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
ผู้จัดการศูนย์ความเป็นเลิศ ThaiRAP ยังบอกด้วยว่า อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ คือ สิ่งอันตรายข้างทาง เช่น เสาไฟฟ้า ต้นไม้ โดยเฉพาะการขับชนต้นไม้เป็นสาเหตุการตายสูงสุด ขณะที่แบริเออร์ที่ออกแบบไว้ส่วนใหญ่เป็นแนวป้องกันสำหรับรถยนต์มากกว่ารถจักรยานยนต์ ขณะที่ในบางประเทศเริ่มมีการทำแบริเออร์สำหรับรถจักรยานยนต์แล้ว เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากมอเตอร์ไซค์บนท้องถนน
ศ.ดร.เกษม กล่าวว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศให้ปี 2564-2573 เป็นทศวรรษแห่งการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนวาระที่สอง โดยมีเป้าหมายลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ในรายงานโครงข่ายถนนประเทศไทยปลอดภัย เพื่อปกป้องชีวิตประชาชน ระบุว่า โครงข่ายถนนที่มีความปลอดภัยไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ขับขี่และโดยสารรถยนต์ แต่ยังช่วยปกป้องผู้ใช้ถนนกลุ่ม “เปราะบาง” คนเดินเท้า ผู้ใช้จักรยาน และจักรยานยนต์ด้วย ทั้งนี้ หากรัฐบาลลงทุนกับโครงข่ายถนนภายใต้งบประมาณเพียงแค่ 0.1-0.2% ของจีดีพีในแต่ละปี หรือประมาณ 15,000 ล้านบาทอย่างต่อเนื่อง จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้ 75% ของการเดินทางที่เกิดขึ้นบนถนนมีความปลอดภัย โดยมีถนนที่ผ่านการประเมินในระดับ 3 ดาวหรือสูงกว่าตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2573 ที่ในปัจจุบันหากให้คะแนนเป็นดาว 5 ดวง ถนนในประเทศไทยยังอยู่ในระดับ 1-2 ดาวเท่านั้น นอกจากนี้ ยังสามารถลดการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ถึงปีละ 7,500 คน.
...